สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2560 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 - 3.9) โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมใหม่ๆ ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้าในเขตเมือง ประกอบกับแนวโน้มรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกคาดว่าจะเป็นแรงสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัว นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง คาดว่าจะส่งผลดีต่อปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก ขณะที่การส่งออกบริการคาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.6 – 2.6) ปรับตัวสูงขึ้นจากปีนี้ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น และการอ่อนค่าของเงินบาท"
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว"
รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2559 และ 2560
1. เศรษฐกิจไทยในปี 2559
1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 – 3.5) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงที่ร้อยละ 3.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.8 – 3.3) และร้อยละ 10.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 10.4 – 10.9) ตามลำดับ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล ประกอบกับการเบิกจ่ายภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนน และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งในระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 ที่มีความพร้อม ยังคงมีความต่อเนื่อง นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.6 – 3.1) ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงของฐานรายได้และการจ้างงานในภาคบริการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ประกอบกับการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรและเศรษฐกิจฐานรากของภาครัฐจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 – 3.5) ตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียที่เติบโตดี คาดว่าจะสนับสนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวขยายตัวดีตามไปด้วย ทั้งธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจค้าส่งค้าปลีก อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้จะยังคงมีข้อจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนเช่นกันมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.4 – 1.9) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และการลงทุนภาครัฐในโครงการสำคัญต่างๆ มีความก้าวหน้าและชัดเจนมาก สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.4 ถึง 0.9)
1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2559 มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.1 – 0.6) ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศคาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณ 34.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 8.8 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.5 – 9.0 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการเกินดุลการค้าและบริการ ทั้งนี้ ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมาอยู่ที่ 35.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 35.0 – 35.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่หดตัวในอัตราชะลอลง ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มราคาสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้าจะหดตัวร้อยละ -0.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.8 ถึง -0.3) ขณะที่มูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2559 จะหดตัวร้อยละ -5.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -5.3 ถึง -4.8)
2. เศรษฐกิจไทยในปี 2560
2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกับปีนี้ที่ร้อยละ 3.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.7 – 3.7) โดยได้รับแรงส่งจากการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐที่ยังคงมีแนวโนมขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 2.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.5 – 2.5) และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 6.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.7 – 6.7) เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคาดว่าโครงการสำคัญ อาทิ โครงการรถไฟรางคู่ และโครงการรถไฟฟ้าในเขตเมือง จะสามารถดำเนินการได้มากขึ้นในปี 2560 และจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐได้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า คาดว่าจะส่งผลดีต่อปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก ประกอบกับด้านการส่งออกบริการยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2560 จะอยู่ที่ 37.2 ล้านคน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนมาขยายตัวร้อยละ 2.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 – 3.1) สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.7 – 3.7) จากรายได้เกษตรกรที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก และสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง ขณะที่รายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรได้รับผลดีจากภาวะตลาดแรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวขึ้นของการใช้จ่ายภาครัวเรือน ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะยังขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.2 ถึง 2.2) เนื่องจากภาคเอกชนยังมีกำลังการผลิตเหลือค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับภาคเอกชนยังรอโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งเพื่อที่จะนำไปสู่การขยายกำลังการผลิต
2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.6 – 2.6) ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนการปรับขึ้นราคาน้ำมันส่วนหนึ่งมาจากผลการเจรจาระหว่างกลุ่ม OPEC และกลุ่ม non-OPEC ในการบรรลุข้อตกลงในการคงกำลังการผลิต นอกจากนี้ ทิศทางการอ่อนค่าของเงินบาทยังจะส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้านำเข้าบางประเภทอาจปรับเพิ่มขึ้น สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศคาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 32.8 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 7.9 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.4 - 8.4 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 32.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 31.5 – 32.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 4.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 - 4.5) ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.3 - 2.3)
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3224 และ 3279 โทรสาร 0 2298 5602