นักการศึกษาระดับโลก ชี้โอกาสสร้างมันส์สมอง รักษาคุณภาพการศึกษา มุ่งความเสมอภาค สอนให้เด็กรู้โลกรู้ตัวตน

12 Jan 2017
มีคำกล่าวว่า การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดคือการลงทุนกับการศึกษา เพราะผลตอบแทนที่ได้คือพลังสมองของบุคลากรที่สามารถพัฒนาประเทศให้เติบโตและยั่งยืนได้ไม่รู้จบ แต่อย่างที่รู้กันว่าระบบการศึกษาบ้านเรายังมีความสับสน ไม่เท่าเทียมและยังไร้ทิศทางที่เป็นเอกภาพ ในขณะที่โลกกำลังจะหมุนเข้าสู่ศตรรษที่ 21 แล้วจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปและเร่งรีบเตรียมความพร้อมให้เด็กไทยและทุกคนในสังคม รับรู้ความท้าทาย เสาะหาหนทางรับมือกับด้วยทักษะการเรียนรู้ใหม่ พร้อมตอบทุกคำถามด้านการศึกษาและไขข้อข้องใจทุกปัญหาของสังคมไทยผ่าน ดร.พาซี ซัลเบิร์ก (Dr. Pasi Sahlberg) นักการศึกษาระดับเวิร์ลคลาส ที่ปรึกษาด้านการศึกษาของรัฐบาลฟินแลนด์ และนักวิจัยรับเชิญแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
นักการศึกษาระดับโลก ชี้โอกาสสร้างมันส์สมอง รักษาคุณภาพการศึกษา มุ่งความเสมอภาค สอนให้เด็กรู้โลกรู้ตัวตน

หนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในงานสัมมนา มหกรรมความรู้ครั้งที่ 5 (OKMD Knowledge Festival)"มันส์สมอง | พื้นที่แห่งความรู้ในศตวรรษที่ 21" อย่าง "New Learning Skills in the Dynamic World: เปิดสมองไปกับวิธีการเรียนรู้ในโลกใหม่" คือไฮไลท์ที่หลายคนตั้งตารอ เนื่องจากในครั้งนี้ ดร.พาซี จะมาบอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกใหม่ ซึ่งในฐานะเป็นนักการศึกษามืออาชีพว่า มนุษยชาติกำลังเผชิญกับความท้าทาย 3 ด้านนั่นคือ คุณภาพของการทำความเข้าใจระบบการศึกษา ความเท่าเทียมกันของระบบการศึกษา และการวางเป้าหมายของสถาบันการศึกษา ซึ่งทุกคนต้องเข้าใจในทิศทางเดียวกันและมองเห็นเป้าหมายร่วมกันเพื่อจะขับเคลื่อนทุกบริบทสังคมให้สอดรับกับแนวทางการเรียนรู้ใหม่ของคนยุคนี้

โลกเปลี่ยน คนต้องปรับ รับศตวรรษเทคโนโลยี

ดร.พาซี ขยายความต่อว่า ยุคนี้คือยุคของคน Homo Zappiens เป็นยุคสมัยที่มนุษย์เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เป็นผู้คิดค้นการใช้งานดิจิทัล และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆให้เกิดประโยชน์กับตัวเขาเองได้ ซึ่งสามารถอ้างอิงได้จากหลายงานวิจัยที่สะท้อนให้เห็นปัจจัยต่างๆที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงการศึกษาของโลก ทั้ง Shallower Information Processing ที่บ่งบอกว่าทุกวันนี้เราสามารถหาข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น และทุกครั้งที่เราค้นหาข้อมูลหนึ่งจะนำพาเราไปสู่ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้เรื่อยๆ หรือจะเป็นงานวิจัย Increased Distractibility ที่ชวนให้ทุกคนหันมามองตัวเองว่า ปัจจุบันเราสูญเสียสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่กลายเป็นพวก Multi-tasking ซึ่งไม่สามารถทำให้คนคนนั้นเป็นคนที่มีประสิทธิภาพได้จริง นอกจากนั้นยังมีงานวิจัย Altered Self-Control Mechanism ที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่ามากกว่า 40% ของเด็กยุคนี้ใช้โซเชียลมีเดีย และอธิบายว่าปัจจุบันเครื่องมือรอบตัวสามารถจัดการกับการเรียนรู้ของเด็กได้

"ถึงแม้เทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และอาจเป็นปัญหาของระบบการศึกษา แต่ถึงอย่างนั้นเทคโนโลยีก็ไม่สามารถเข้ามาทดแทนการเรียนรู้ได้ทั้งหมด ซึ่งระบบโรงเรียนยังมีความสำคัญอยู่ เพียงแต่เราจะใช้กระบวนการใดมาจัดการและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้เท่านั้น ซึ่งหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาคือการสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้น พร้อมกับพัฒนาทักษะการเรียนรู้ใหม่ โดยผู้เรียนต้องเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง และมีความสามารถวิเคราะห์ระบบข้อมูล แยกแยะได้ว่าเรื่องใดจริงหรือเท็จ ขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน เอาใจเขาใส่ใจเรา เหมือนคำพูดของ เซอร์ เคน โรบินสันที่เคยกล่าวเมื่อปีก่อนว่า โรงเรียนต้องตั้งเป้าหมายให้นักเรียนเข้าใจโลกรอบตัว และรู้จักความสามารถที่ตนเองมีให้ได้"

ระดมสมอง ประลองคำถามกับกูรูจากฟินแลนด์

นอกจากดร. พาซี จะนำเสนอเรื่องราวการศึกษาระดับโลกให้ทุกคนได้ลองสนุกกับการเปิดสมองแล้ว เขายังเชิญชวนให้ทุกคนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันอีกด้วย หลายๆคำถามทำให้เกิดการฉุกคิดและสามารถนำไปปรับใช้ได้ ยกตัวอย่าง ข้อแนะนำวิธีการใช้เทคโนโลยีกับการเรียนรู้ของเด็กพิเศษว่าควรชักชวนเด็กเข้าสังคม ซึ่งทั้งครูและผู้ปกครองต้องร่วมมือกัน สื่อสารแม้กระทั่งทางสายตา และทุ่มความสนใจในทุกรายละเอียดของเด็ก

หรือแม้กระทั่งวิธีการจัดการกับการศึกษาแบบเดิมว่าควรจัดการการเรียนการสอนให้น่าสนใจด้วยการสร้างบรรยากาศให้เหมือนบ้าน นำเสนอทางเลือกให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่เขาสนใจ เปลี่ยนจากวิธีเลคเชอร์เพียงอย่างเดียว ให้เป็นการทำกรุ๊ปเวิร์กหลังการสอน เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยแก้ปัญหาบุคลากรครูที่มีจำนวนจำกัดและไม่เพียงพอต่อปริมาณเด็กที่เพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งแนะแนววิธีการจัดการกับข้อมูลมากมายด้วยการแยกแยะให้ได้ว่าข้อมูลใดจริงหรือเท็จ โดยวิเคราะห์ที่มาและความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ตลอดจนฝึกฝนให้เกิดการค้นหาข้อมูลที่เป็นจริงให้ชำนาญ พร้อมฝึกตั้งคำถามและค้นหาคำตอบให้เป็น

ผู้เขียนหนังสือ "Finnish Lesson 2.0: What can the world learn from educational change in Finland" ซึ่งได้รับรางวัล Grawemeyer Award กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางแก้ปัญหาของระบบการศึกษาไทยว่าควรคำนึงถึงความเท่าเทียมของการศึกษา ทั้งคุณภาพการศึกษา การเข้าถึงแหล่งความรู้ต่างๆ บุคลากรครู รวมทั้งเครื่องมือเพียงพอที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันได้

"สำหรับข้อแนะนำภาครัฐ ผมอยากพูดถึงการดูแลการเรียนรู้ของเด็กอย่างใกล้ชิดและทำให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกันย่อมทำให้ระบบการศึกษาเข้มแข็งได้ พร้อมกับร่วมค้นหาทักษะเด็กเพื่อให้เขาได้เรียนรู้อย่างที่ต้องการ ส่วนเรื่องงบประมาณนั้น ผมขออ้างอิงจากประเทศฟินแลนด์ ซึ่งรัฐจะให้งบประมาณตามความต้องการของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนเองก็ต้องเข้าใจและวิเคราะห์ความต้องการของเด็กได้จริงๆ เพื่อจะได้นำเสนอนโยบายต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ นอกจากนั้นยังต้องให้ความสำคัญกับการค้นคว้าความต้องการของเด็กและมีวิธีการบริหารจัดการที่ดีทั้งการเรียนการสอน รวมถึงอาหารและใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพด้วย" ดร. พาซี กล่าวทิ้งท้ายเพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมตระหนักถึงความสำคัญของแนวทางสร้างทักษะการเรียนรู้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคนอันใกล้นี้