"จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงทางภาคใต้ในขณะนี้หากโทรทัศน์และวิทยุทั้งระดับชาติ ท้องถิ่น หรือชุมชนจะล้มผังรายการเพื่อรายงานเหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สามารถตัดสินใจได้เลย โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก กสทช.ก่อน ขณะนี้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือเวียนไปยังโทรทัศน์ทั้งฟรีทีวี ดาวเทียมและเคเบิลทีวี ไปแล้ว เพื่อขอความร่วมมือให้ทำตามแผนและขั้นตอนที่เคยซักซ้อมกันมา ส่วนสถานีวิทยุกระจายเสียงรายเดิม รวมทั้งวิทยุทดลองประกอบกิจการในพื้นที่ภาคใต้ ที่ยังสามารถให้บริการกับพี่น้องประชาชนได้ ขอความร่วมมือในการรายงานข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ การเตือนภัยด้วยเช่นกัน และภายในสัปดาห์นี้จะมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. หารือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อร่วมกันพิจารณาว่า ถึงขั้นควรให้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเตือนภัยให้ประชาชนระวังหรือยัง หรือขึ้นตัววิ่ง ดีกว่าแค่เป็นข่าวพยากรณ์อากาศเท่านั้น" นางสาวสุภิญญากล่าวทั้งนี้การนำเสนอข่าวดังกล่าวควรยึดหลักจรรยาบรรณ รอบด้าน ทันต่อสถานการณ์ เน้นช้อเท็จจริงเป็นหลัก ควรมีข้อมูลทั้งจากภาครัฐ องค์กรชุมชนในพื้นที่ และภาควิชาการ เพื่อให้เกิดการรับรู้และแก้ปัญหาทั้งในระดับนโยบาย และ ปฏิบัติ ได้ทันท่วงที
สำหรับสาระสำคัญของประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน พ.ศ. 2555 กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการให้มีความชัดเจน โดยกำหนดขั้นตอนหลัก ๆ เป็น 3 ระยะ คือ การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบกิจการก่อนเกิดเหตุ เช่น การกำหนดให้มีผู้ประสานงานหลักของแต่ละสถานีโทรทัศน์รวมถึงแนวปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุ การปฏิบัติตนของผู้ประกอบกิจการในกรณีเกิดเหตุ มีแนวทางปฏิบัติในการออกอากาศและการดำเนินการตามที่รัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร้องขอ และการดำเนินการภายหลังเกิดเหตุที่กำหนดหน้าที่ของ ผอ.สถานีในการประกาศแจ้งยกเลิกสถานการณ์