สคร.10 อุบลฯ เตือนระวังโรคอุจจาระร่วงในช่วงหน้าหนาว

10 Jan 2017
ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลฯ เตือน ประชาชนระวังโรคอุจจาระร่วงในช่วงหน้าหนาว โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กนพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) กล่าวว่า ประชาชนส่วนมากมักเข้าใจว่าโรคอุจจาระร่วงเกิดขึ้นเฉพาะช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะช่วงที่อากาศหนาวเย็น ก็เกิดโรคอุจจาระร่วงได้เช่นกัน โดยเฉพาะอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า หรือที่เราเรียกว่า ไวรัสลงลำไส้ พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเชื้อจะปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม และติดต่อกันได้ทางน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย เด็กที่ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดนำมาก่อน ต่อมาจะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำปนฟอง และมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว มีอาเจียนร่วมด้วย หากเป็นมากอาจทำให้เด็กขาดน้ำรุนแรง เสียชีวิตได้
สคร.10 อุบลฯ เตือนระวังโรคอุจจาระร่วงในช่วงหน้าหนาว

นพ.ศรายุธ กล่าวต่อไปว่า เชื้อไวรัสโรต้า ติดต่อกันง่ายมาก เชื้อจะออกมากับอุจจาระเด็กที่ป่วย ติดต่อกันโดยเชื้อปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม บางครั้งเชื้อติดอยู่กับของเล่นเด็ก เมื่อเด็กหยิบเข้าปากก็ติดเชื้อได้ ดังนั้นในการป้องกันเด็กป่วย ขอให้ผู้ปกครองหมั่นล้างมือให้เด็ก ทำความสะอาดของเล่นบ่อยๆ เตรียมอาหารเด็กให้สุกด้วยความร้อน ดื่มน้ำต้มสุก ส่วนแม่หลังคลอดแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เด็กจะได้รับภูมิต้านทานโรคจากแม่ ไม่ป่วยง่าย ส่วนในกลุ่มประชาชนทั่วไป ขอให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ ใช้ช้อนกลางตักอาหาร และล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังจากใช้ห้องน้ำทุกครั้ง

จากการเฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วงในฤดูหนาวปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ ต.ค. 2558 ถึง ม.ค. 2559 รวม 4 เดือน พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงจำนวน 31,381 ราย โดยการดูแลผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง กรณีเด็ก ขอให้เด็กกินอาหารเหลวบ่อยๆ เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด รวมทั้งกินนมแม่ตามปกติ เด็กที่กินนมผสมให้กินตามปกติ แต่ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่งต่อมื้อ โดยให้กินสลับกับน้ำลายผงน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอสครึ่งหนึ่ง อาการเด็กจะค่อยๆ ดีขึ้นเป็นปกติได้ภายใน 8-12 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น ถ่ายเหลวไม่หยุด เด็กซึมลง ปากแห้งมาก ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม ให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว

ส่วนในกลุ่มประชาชนทั่วไปและผู้สูงอายุ ขอให้รับประทานอาหารตามปกติแต่ควรเป็นอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร และให้ดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอสแทนน้ำและดื่มให้หมดภายใน 1 วันหากอาการไม่ดีขึ้น ยังถ่ายบ่อย อาเจียน รับประทนอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ มีไข้สูง หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422.

HTML::image(