คิดค่าโทรเป็นวินาที ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

10 Jan 2017
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ลงมติเห็นชอบรายงานการศึกษาเรื่อง การกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริงโดยคิดเป็นวินาที และต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558 นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า ในระยะแรกรัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้ผู้ให้บริการจัดทำโปรโมชั่นคิดค่าโทรเป็นวินาทีเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค แต่ในระยะที่สองต้องปรับแก้วิธีคิดค่าบริการให้เป็นวินาที โดยต้องทำให้เป็นระบบอย่างยั่งยืน

แม้ต่อมาผู้ให้บริการจะจัดทำโปรโมชั่นทางเลือกแบบคิดค่าบริการเป็นวินาที ซึ่งมีจำนวนน้อย และมีอัตราค่าบริการแพงขึ้นอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่มีท่าทีที่จะดำเนินการต่อในระยะที่สองแต่อย่างใด กระทั่งเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจึงได้มีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ว่า ทางคณะกรรมาธิการได้ประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวแล้ว เห็นควรแก่เวลาที่ผู้ให้บริการจะคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที ซึ่งสอดคล้องกับวิธีการคิดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างผู้ให้บริการด้วยกันเอง และเป็นไปตามที่สำนักงาน กสทช. ได้เคยแถลงต่อสื่อมวลชนว่า ค่าโทรบนคลื่น 900 และ1800 MHz ที่จัดประมูลไปนั้นจะคิดตามจริงเป็นวินาที จึงขอให้เร่งรัดการคิดค่าโทรเป็นวินาทีทั้งระบบโดยเร็ว

ข้อเสนอเรื่องการคิดค่าโทรตามการใช้งานจริง จึงมีที่มาจากทั้ง สปช. และ สปท. โดยได้มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องแล้ว มิใช่เป็นการเรียกร้องลอยๆ ของกลุ่มผู้บริโภคที่ขาดเหตุผลแต่อย่างใด

ส่วนที่บางฝ่ายกังวลว่า ผู้ให้บริการจะได้ประโยชน์ และผู้บริโภคจะเสียประโยชน์หากคิดค่าโทรเป็นวินาทีนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า หากผู้ให้บริการได้ประโยชน์จากการคิดค่าโทรเป็นวินาทีจริงๆ คงแย่งกันทำเสียนานแล้วโดยภาครัฐไม่ต้องเสนอ เพราะเอกชนนั้นทำเพื่อประโยชน์หรือกำไรสูงสุดอยู่แล้ว แต่การที่เอกชนพากันคัดค้าน เพราะข้อเท็จจริงจากสหภาพยุโรปสรุปว่า ผู้ให้บริการได้ค่าบริการส่วนเกินจากการปัดเศษที่มากกว่าการใช้งานจริงไปถึงร้อยละ 24 การคิดค่าโทรตามจริงจะทำให้ผู้บริโภคได้เวลาคืนมาโดยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หมายความว่าผู้ให้บริการจะขาดรายได้ที่ไม่เป็นธรรมจากที่เคยปัดเศษค่าโทรนั่นเอง

เรื่องการปัดเศษค่าโทรนั้น ประเทศฝรั่งเศสได้บัญญัติห้ามในกฎหมายความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดิจิทัลตั้งแต่ พ.ศ. 2547 และรัฐสภาสเปนได้บัญญัติห้ามในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2549 ส่วนโปรตุเกสได้บัญญัติห้ามไว้ในกฤษฎีกาการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมทางธุรกิจต่อผู้บริโภค

จะเห็นได้ว่า การคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที หรือการห้ามปัดเศษค่าโทร เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค มิใช่ผู้ให้บริการ และการปัดเศษค่าโทรนั้น กฎหมายในหลายประเทศถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

ส่วนที่กังวลว่า ผู้บริโภคที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มโทรสั้น ส่วนกลุ่มโทรยาวจะเสียประโยชน์นั้น คงจะเกิดจากความไม่เข้าใจวิธีการปัดเศษ ไม่ว่าจะโทรสั้น หรือโทรยาว หากเกิดเศษวินาที ผู้ให้บริการจะปัดขึ้นทุกกรณี ดังนั้นทุกกลุ่มจะได้ประโยชน์คือจ่ายน้อยลง หรือได้นาทีที่หายไปกลับคืนมา ผู้ที่โทรบ่อยจะได้ประโยชน์มาก ส่วนผู้ที่โทรน้อยก็จะได้ประโยชน์น้อยลงตามลำดับ เพราะจำนวนครั้งของการปัดเศษขึ้นกับจำนวนครั้งการโทร ไม่ใช่จำนวนนาทีที่โทร

และที่บางฝ่ายเสนอว่า เป็นเรื่องล้าสมัย เพราะเราเข้าสู่ยุค 4G แล้ว คนใช้งาน Mobile Broadband มากขึ้น และได้โทรฟรีผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ นั้น อาจจะเพราะมีฐานะดีและมีชีวิตในเมืองที่เจริญ แต่ลืมคำนึงถึงผู้บริโภคอีกหลายล้านคนที่ยังคงใช้การโทรเป็นหลัก ดังเช่น ปรากฏการณ์ซิมดับภายหลังการประมูล ที่ผู้ให้บริการต้องแจกเครื่องฟรีหลายล้านเครื่องเพื่อให้ผู้บริโภคที่โทรเพียงอย่างเดียวสามารถใช้งานต่อไปได้ ส่วนผู้ที่โทรผ่านแอพนั้น หากไปในต่างจังหวัดที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี ก็จะไม่สามารถใช้งานลักษณะดังกล่าวได้เช่นกัน แต่การโทรผ่านระบบปกติยังใช้งานได้ดีอยู่ แม้แต่โปรโมชั่น 3G หรือ 4G ของทุกค่าย ก็ยังผูกทั้งค่าโทรและค่าเน็ตในโปรโมชั่นหลักของทุกค่าย เช่น โทรฟรี 500 นาที และเล่นเน็ตได้ 5 กิกะไบต์ เป็นต้น ซึ้งในส่วนนาทีที่ให้โทรฟรีนั่นเองที่มีการปัดเศษ และทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากโทรได้ไม่ถึงจำนวนที่กำหนด โดยต้องจ่ายค่าโทรเพิ่มนาทีละ 1.50 บาท ถูกเรียกเก็บเดือนละหลายร้อยบาท เพราะการปัดเศษ โดยเฉพาะกลุ่มที่โทรบ่อยตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

ดังนั้นหากผู้ที่มีชีวิตล้ำสมัยกว่าคนอื่นจะเข้าใจชีวิตของคนส่วนใหญ่ ก็คงจะเข้าใจความจำเป็นของแนวคิดการคิดค่าบริการตามจริง ที่ สปช. และ สปท. เสนอ

และแนวคิดเรื่องการคิดค่าบริการตามจริงในหลายประเทศ เป็นไปตามหลักการว่า ผู้บริโภคไม่ต้องชำระค่าบริการในส่วนที่ไม่ได้ใช้บริการ ดังนั้นการปัดเศษอินเทอร์เน็ตก็เป็นสิ่งต้องห้ามด้วย หลายท่านที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ อาจไม่ทราบว่า ทุกครั้งที่เชื่อมต่อ ค่ายมือถือก็มีการปัดเศษจากกิโลไบต์เป็นเมกะไบต์เช่นกัน ซึ่งรุนแรงกว่าการปัดเศษวินาที เพราะการปัดเศษวินาที คือปัดให้เต็ม 60 วินาที อย่างเก่งคือปัดขึ้น 60 เท่า แต่การปัดเศษอินเทอร์เน็ตนั้น ปัดให้เต็ม 1,024 กิโลไบต์ คือปัดพันเท่า และเคยมีบางโปรโมชั่นที่ปัดเป็น 100 เมกะไบต์ด้วยซ้ำ นั่นคือปัดแสนเท่า

ดังนั้น การคิดค่าบริการตามจริง จึงเป็นเรื่องของยุค 4G ด้วยเช่นกัน มิใช่เรื่องล้าสมัยแต่อย่างใด แต่เป็นหลักการสำหรับทุกยุคทุกสมัย คือ การไม่ต้องจ่ายในส่วนที่ไม่ได้ใช้บริการ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่เป็นธรรมของสังคม การปัดเศษคือมรดกของยุค Analogปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถบันทึกการใช้งานได้แม้เสี้ยววินาที เราจะก้าวสู่ยุคดิจิตัล แต่ยอมถูกเก็บเงินแบบแอนะล็อกกันอยู่ทำไม

แต่หากเกรงว่า จะกระทบรุนแรงต่อผู้ให้บริการ เราสามารถกำกับดูแลโดยให้เริ่มคิดค่าบริการโดยไม่ปัดเศษเฉพาะโปรใหม่ทุกโปร ส่วนโปรเก่าที่ปัดเศษนั้น เมื่อครบกำหนดก็เลิกไป ก็จะไม่ทำให้เกิดความโกลาหล เช่นเดียวกับที่เคยกำกับดูแลในกรณีการห้ามคิดค่าโทรเกิน 99 สตางค์นั่นเอง และหากจำเป็น เราสามารถกำหนดอัตราค่าโทรขั้นต่ำได้ เช่นในสหภาพยุโรป กำหนดให้คิดเงินได้ 30วินาทีแรกแม้จะใช้งานไม่ถึง เพื่อชดเชยต้นทุนคงที่ของการโทร ส่วนที่เกิน 30 วินาทีให้คิดตามจริงเป็นวินาที หรือในบางประเทศมีการกำหนด interval ของการคิดค่าโทรแทนวินาที เช่น หากใช้หลักการทศนิยม ก็จะคิดเงินทุก 6 วินาที (หนึ่งในสิบของนาที) แม้จะโทรไม่ถึง การปัดเศษจึงปัดได้ไม่เกิน 6 วินาที

ในเรื่องนี้เราจึงหาทางออกได้ หากใช้เหตุผลเพื่อร่วมกันเดินไปข้างหน้าด้วยกัน แต่หากจะเหนี่ยวรั้งประเทศ หรือต่อต้านการปฏิรูป ต่อต้านข้อเสนอ ของ สปช. และ สปท. ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตาม ในประกาศประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz นั้น สำนักงาน กสทช. ได้แถลงอย่างชัดเจนว่า มีการกำหนดให้คิดค่าบริการตามการใช้งานจริง การพยายามบิดเบือนข้อความเพื่อให้คิดเป็นนาทีได้ จึงขัดกับประกาศประมูลซึ่งถือเป็นกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันจับตามองว่า อะไรที่จะมามีอิทธิพลเหนือกฎหมาย