ภาวะดังกล่าวนี้ คนในวงการต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าตั้งแต่ทำอาชีพนี้มาก็เพิ่งจะเคยพบเจอกับภาวะราคาผลผลิตตกต่ำลากยาวกว่า 8 เดือน ทั้งๆที่ปกติแล้วช่วงหลังจากเทศกาลกินเจราคาหมู-ไก่-ไข่ ต้องกระเตื้องขึ้นเข้าสู่วัฎจักรราคาดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นทุกปี แต่ปีนี้การบริโภคของคนไทยต่ำลงอย่างชัดเจนจนส่งผลกระทบต่อภาคปศุสัตว์ไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้
สำหรับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ บอกว่าไม่เฉพาะประเทศไทยที่ประสบปัญหาราคาหมูตกต่ำ แต่ทั่วโลกต่างมีปัญหาไม่ต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตและผู้ส่งออกหมูรายใหญ่ของโลก ที่ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มลดลงมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 31 บาท จากที่ราคาเคยสูงถึงกว่า 46 บาทเมื่อช่วงต้นปี ถือว่าเป็นราคาต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากสหรัฐฯ เพิ่มปริมาณการเลี้ยงหมูมากขึ่นตลอดปีนี้ เมื่อกลับมามองประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม กัมพูชา ลาว และฟิลิปปินส์ ราคาก็ปรับตัวลงเช่นกัน โดยปัจจุบันราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 57 65 72 และ 80 บาท ตามลำดับ
ส่วนสถานการณ์ราคาหมูของไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยราคาเริ่มปรับลดลงมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ราคาประกาศหมูเป็นหน้าฟาร์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 56-63 บาท ซื้อขายจริงอยู่ที่ 54-61 บาท ขณะที่ต้นทุนสูงถึง 64-68 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ทำให้ผู้เลี้ยงบางส่วนโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่แบกรับภาระขาดทุนไม่ไหวต่างต้องชะลอการเลี้ยงไปแล้ว หากภาวะราคายังตกต่ำเช่นนี้ต่อไป เชื่อว่าจะส่งผลต่อปริมาณหมูขุนในตลาดช่วง 6 เดือนข้างหน้า ที่จะต้องลดลงอย่างแน่นอน
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ชี้ให้เห็ว่า การบริโภคเนื้อหมูของประชาชนลดลงอย่างมาก จากที่เคยบริโภค 4-4.3 หมื่นตัวต่อวัน ขณะนี้ลดลงมาอยู่ที่ 3.8-4 หมื่นตัวต่อวัน สวนทางกับปริมาณการผลิตหมูขุนที่ที่ผลิตได้ประเทศวันละ 4.5 หมื่นตัว ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากรายได้หลักของเกษตรกรลดลง เพราะราคาสินค้าเกษตรทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ ที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะต้องประสบปัญหาอย่างหนัก แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ต่างยอมรับในปัญหาและพยายามประคับประคองอาชีพต่อไป เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค เพราะทุกคนทราบดีว่า "วัฏจักรหมู" มีขึ้นมีลง ตามปริมาณการผลิตหมูขุนและความต้องการการบริโภคในแต่ละช่วง หากช่วงไหนปัจจัยทั้งสองไม่สมดุลกันอย่างเช่นปัจจุบันที่ผลผลิตหมูออกสู่ตลาดมากเกินกว่าการบริโภคนราคาย่อมปรับลดลง รวมทั้งมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เป็นตัวกำหนดภาวะราคา ไม่ว่าจะเป็นปริมาณการเลี้ยง ต้นทุนการผลิต ภาวะอากาศแปรปรวนที่ส่งผลต่อการให้ผลผลิต และเทศกาลสำคัญต่างๆ
การแก้ปัญหาราคาหมูอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เช่น ภาครัฐที่ต้องเร่งกระตุ้นการบริโภคเนื้อหมูให้มากขึ้นจาก 14 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ที่เป็นอัตราคงที่เช่นนี้มากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งไทยถือว่าบริโภคหมูต่ำกว่าประเทศอื่นๆที่บริโภคมากถึง 20-40 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ทั้งจีน เวียดนาม และรัสเซีย ขณะที่เกษตรกรผู้ผลิตต้องวางแผนการเลี้ยงอย่างเป็นระบบ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิตระหว่างกัน เพื่อให้สามารถผลิตหมูได้ต่อไป
ส่วนภาวะราคาไข่ไก่ที่ตกต่ำ นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้ส่งออกไข่ไก่ บอกว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากช่วงต้นปีมีภัยหนาวเฉียบพลันและภาวะแล้งตามมา ทำให้ปริมาณไข่ไก่ลดลง ราคาไข่ไก่จึงปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการเลี้ยงมากขึ้น ขณะเดียวกันเกษตรกรหลายรายต่างพากันยืดอายุปลดแม่ไก่ยืนออกไปอีก ส่งผลต่อปริมาณไข่ไก่ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ประเทศไทยมีการผลิตไข่ไก่เฉลี่ย 15,500 ล้านฟองต่อปี ขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการบริโภคเฉลี่ยเติบโตเพียงปีละ 4% เท่านั้น โดยปัจจุบันคนไทยมีการบริโภคต่ำเพียง 220 ฟองต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่บริโภค 300-400 ฟองต่อคนต่อปี ผู้เลี้ยงไก่ไข่ประเมินว่าหากคนไทยทุกคนบริโภคเพิ่มขึ้นเพียง 20 ฟองต่อปี ก็สามารถแก้ปัญหาไข่ล้นตลาดและราคาตกต่ำได้แล้ว
ที่ผ่านมาผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่ฯ ดำเนินนโยบายการเพิ่มปริมาณการบริโภคไข่ไก่ของคนไทย ภายใต้ "โครงการรณรงค์บริโภคไข่ไก่ 300 ฟองต่อคนต่อปี" ไปจนถึงปี 2561 ในแคมเปญ "กินไข่ทุกวัน กินได้ทุกวัย กินอะไรใส่ไข่ด้วย" โดยมุ่งให้คนไทยบริโภคไข่ไก่ที่เป็นโปรตีนคุณภาพดี ราคาประหยัดให้มากขึ้นทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ
แม้ว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงจะต้องประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรก็ตาม แต่ภาคผู้ผลิตอาหารสัตว์ก็มีส่วนช่วยลดภาระของเกษตรกร ด้วยการปรับลดราคาอาหารสัตว์ลงมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ตัวอย่างเช่น อาหารไก่ไข่ที่ลดราคามามากถึงกว่า 10 ครั้งในรอบ 1 ปี ตามวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวลงในแต่ละช่วง ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากทุกปีที่ลดลงปีละประมาณ 3-5 ครั้ง โดยเมื่อเปรียบเทียบราคาอาหารสัตว์ในเดือนธันวาคม 2559 พบว่าราคาต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2558 ถึงกว่า 30 บาทต่อถุง 30 กิโลกรัม
ท้ายสุดนี้นายกทั้งสองสมาคมฯ ได้เชิญชวนพี่น้องประชาชนหันมาบริโภคทั้งไข่ไก่ หมู รวมถึงเนื้อไก่ ที่ราคาไม่สูง ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และถือเป็นโอกาสของผู้บริโภคที่ได้รับประทานโปรตีนคุณภาพดีเหล่านี้./
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit