รมว.วธ. จี้กรมศิลป์พัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์แหล่งมรดกโลก แนะพัฒนาแอพพลิเคชั่น ใช้นำชมพิพิธภัณฑ์ - อุทยานประวัติศาสตร์

06 Jan 2017
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้รายงานความคืบหน้าการพัฒนาแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและดำเนินการแก้ปัญหาการขับเคลื่อนงานกรมศิลปากร ได้แก่ 1.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ขณะอยู่ระหว่างร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในนครประวัติศาสตร์พื้นที่โดยรอบและชุมชน 2.อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวารประกอบด้วยอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่และภูมิทัศน์ โดยแบ่งพื้นที่เป็นโซนต่างๆ 3.แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงกำลังจัดตั้งศูนย์ศึกษาวิจัยทางโบราณคดี 4.แผนการพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ได้ปรับปรุงให้มีบรรยากาศเอื้ออำนวยต่อการเข้าชมมากขึ้น 5.การปรับปรุงหอสมุดแห่งชาติ ขณะนี้ใกล้แล้วเสร็จจึงกำชับให้เร่งดำเนินการ นอกจากนี้ กรมศิลปากรยังรายงานด้วยว่ามีแผนจัดสร้างคลังกลางด้านโบราณวัตถุในภูมิภาคต่างๆ โดยอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดนครนายก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมศิลปากรได้รายงานคืบหน้าการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดนครปฐม ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพิ่มเติม ทั้งนี้ได้กำชับให้จัดพื้นที่เพื่อแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเรือนจำและจัดนิทรรศการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยใช้อาคารเดิมด้วย และได้ให้กรมศิลปากรไปปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดต่างๆ ให้มีบรรยากาศเอื้ออำนวยต่อการเข้าชม และเผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่ทันสมัยโดยผ่านระบบออนไลน์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า กรมศิลปากรยังได้รายงานอีกว่าปัจจุบันได้ติดตั้งระบบเออาร์โค้ด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือนจริง ทำให้เห็นภาพในจอภาพกลายเป็นวัตถุ 3 มิติลอยอยู่พื้นผิวจริง ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 2 แห่ง คือ แหล่งโบราณสถานเวียงกุมกามและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี นอกจากนี้ กรมศิลปากรได้ติดตั้งระบบคิวอาร์โค้ด เพื่อนำชมและให้ความรู้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 20 แห่งจากทั้งหมด 44 แห่ง และอุทยานประวัติศาสตร์ 8 แห่ง จากที่มี 9 แห่ง โดยตั้งเป้าหมายภายในปีงบประมาณ 2560 จะติดตั้งให้ครบทุกแห่ง

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นระบบนำชมภายในพิพิธภัณฑ์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เมื่อผู้เข้าชมใช้แอพพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์มือถือและสแกนโบราณวัตถุแต่ละชิ้น แอพพลิเคชั่นจะแสดงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโบราณวัตถุชิ้นนั้น ช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกในการเข้าชมและหาความรู้ ซึ่งได้ให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ดำเนินการนำร่องในเรื่องนี้