100 ปี สตรีเพ็ญภาค ปลูกสมุนไพร สร้างป่า สร้างรายได้

19 Jan 2017
เพื่อสานต่อแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน สตรีเพ็ญภาค ยาแผนโบราณที่ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 จึงถือโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี คืนกำไรกลับสู่สังคม จัดตั้ง "โครงการส่งเสริมการปลูกสมุนไพร สร้างป่า สร้างรายได้" โดยมุ่งเน้นสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
100 ปี สตรีเพ็ญภาค ปลูกสมุนไพร สร้างป่า สร้างรายได้

จิรชัย ไทยชาติ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ขายยาเพ็ญภาค จำกัด เผยว่า "พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยลดลงเป็นจำนวนมาก เนื่องมาจากปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและยังมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ บริษัท ขายยาเพ็ญภาค จำกัด มุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการเพื่อตอบแทนสังคมอย่างต่อเนื่อง และได้ริเริ่มจัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกสมุนไพร สร้างป่า สร้างรายได้ ขึ้น โดยใช้ระยะเวลาศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเตรียมระบบมานานกว่า 2 ปี เนื่องจากในแต่ละปีบริษัทมีความต้องการใช้สมุนไพรเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาที่พบคือสมุนไพรที่รับซื้อมาเหล่านั้นไม่สามารถระบุแหล่งผลิต อีกทั้งสมุนไพรไม้ยืนต้นหลายชนิดที่ซื้อมา อาจจะได้มาจากการตัดไม้ทำลายป่า ทำลายสิ่งแวดล้อม บริษัทจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมการปลูกสมุนไพรทุกชนิด ที่บริษัทนำมาใช้ในการผลิต (ปรุงยา) จนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ได้ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับผู้นำเกษตรกรเพื่อชักชวนปลูกพืชสมุนไพรจนประสบความสำเร็จเป็นกลุ่มแรก โดยมี "กลุ่มข้าวคุณค่า ชาวนาคุณธรรม" หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ กลุ่มข้าวคุณธรรม ของชาวบ้าน ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว จังหวัดยโสธร เป็นกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ"

นายนิคม เพชรผา ประธานกลุ่มข้าวคุณค่า ชาวนาคุณธรรม เผยว่า "จุดเด่นของสมาชิกในกลุ่มผู้ปลูกข้าวชาวนาคุณธรรมคือทุกคนต้องถือศีล 5 ไม่กินเหล้า เล่นการพนัน และจากการรวมตัวกันทำนาแบบเกษตรอินทรีย์คือไม่ใช้สารเคมีเพื่อให้ได้ข้าวที่ดีกินแล้วปลอดภัย เราก็อยู่ได้ จึงคิดได้ว่าแล้วเราจะไปลงทุนลงแรงตรงนั้นเพิ่มทำไม ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่เป็นหนี้ อาจจะหาเงินได้ไม่มาก แต่มีกินมีใช้โดยไม่ต้องซื้อ"

และเพื่อยกระดับความหลากหลายจากการผลิตข้าวมาตรฐานเกษตรแบบสากล ไปสู่การเรียนรู้เรื่องสมุนไพร เพ็ญภาค จึงได้เริ่ม โครงการส่งเสริมการปลูกสมุนไพร สร้างป่า สร้างรายได้ เพื่อปรับคุณภาพชีวิต และในระยะยาวชุมชนจะสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยผ่านการสนับสนุนด้านการให้ความรู้เรื่องการปลูกสมุนไพร ตั้งแต่จัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ให้สมาชิกเกษตรกรสามารถนำเมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้าสมุนไพรที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ไปเพาะปลูก และเนื่องจากสมาชิก ยังขาดความรู้ในการปลูกสมุนไพรเพื่อการค้า ทำให้ที่ผ่านมามีการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ประโยชน์เพียงในครัวเรือนและเพื่อการอนุรักษ์ บริษัทจึงให้ความสำคัญส่งผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านการเกษตรเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงคอยติดตามผล และเป็นที่ปรึกษาให้ชาวบ้าน ในเรื่องการเก็บเกี่ยวสมุนไพรและการถนอมรักษาตัวยาในสมุนไพรไม่ให้เกิดการเสื่อมคุณภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงเรือนอบ-ตาก ปรับปรุงคุณภาพ ทำการคัด ตัด แต่ง เก็บใส่บรรจุภัณฑ์มาตรฐาน และเน้นการลดใช้สารเคมี เนื่องจากเกษตรแบบดั้งเดิมมีการใช้สารเคมีค่อนข้างมาก

สมุนไพรชนิดแรกที่ทดสอบปลูกและได้ผลดีคือ ฝาง โดยบริษัทได้แจกต้นกล้าจำนวน 1,700 ต้น และต้นกล้าจันทน์เทศอีก 500 ต้น ให้เกษตรกรทำการทดลองปลูก และยังมีสมุนไพรอื่นๆ อาทิ หญ้าขัดมอน, กำแพงเจ็ดชั้น, โด่ไม่รู้ล่ม, หญ้าพันงูแดง, ผิวมะกรูด, ข่าตาแดง ฯลฯ ปัจจุบันเกษตรกรเริ่มเห็นช่องทาง ทำให้มีการลงทุนต่อยอด ล่าสุดมีชาวบ้านที่ร่วมโครงการแล้ว 40 ราย กินพื้นที่เพาะปลูกกว่า 2,400 ไร่ และสามารถเริ่มเก็บผลผลิต สร้างรายได้นอกจากการทำนาตามฤดูกาล

หนึ่งในสมาชิกเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ในโครงการส่งเสริมการปลูกสมุนไพร สร้างป่า สร้างรายได้ นางสาวกระแสบุญ ดอกบัว กล่าวว่า "เมื่อก่อนเรามีต้นตาไก่อายุ 100 ปีอยู่ในหมู่บ้าน แต่คนเฒ่าคนแก่เขาไม่รู้ คิดแค่ว่าตัดทำฟืน เอามาเผาถ่านได้เท่านั้น พอมองย้อนไปแล้วเราใจหายนะ เสียดายมาก หรืออย่างต้นขัดมอนที่เป็นต้นหญ้า ก็ไม่เคยเห็นคุณค่า จนวันที่เพ็ญภาคเข้ามาให้ความรู้ ทำให้เราเห็นประโยชน์ว่านี่คือพืชสมุนไพร มีสรรพคุณทางยา ปลูกแล้วเก็บผลผลิตมาขายได้ และด้วยศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งสมาชิกมีพื้นที่หลากหลาย ทั้งที่นา ที่ดอน ป่าหัวไร่ปลายนา สวนหลังบ้าน หรือแม้แต่คันนาก็สามารถปลูกพืชสมุนไพรได้หมด โดยตลอดโครงการที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรและทุกคนในครอบครัว แม้กระทั่งผู้สูงอายุก็มีอาชีพ เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจว่าตัวเองสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ อย่างเมื่อก่อนปลูกทิ้งขว้าง ปลูกแล้ว ทำมาแล้วไม่รู้จะไปขายที่ไหน พอมีโครงการนี้เข้ามา ทำให้เรามีช่องทางจำหน่ายตรงกับความต้องการของตลาดและบริหารความเสี่ยงของผลผลิตล้นตลาด โดยมีบริษัทเป็นผู้รับซื้อสมุนไพรโดยตรงกับเกษตรกร และเมื่อเราต่างเห็นคุณค่าจากการนำไปใช้ประโยชน์ของสมุนไพรมากกว่าการเผาถ่าน หรือเป็นวัชพืชขึ้นรกร้าง จึงเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์และช่วยกันพัฒนาพร้อมทั้งเรียนรู้ที่จะปลูกพืชสมุนไพร เป็นคุณค่าที่แปลงเป็นมูลค่าไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการร่วมโครงการ"

เรียกได้ว่ากลุ่มเกษตรกร โครงการส่งเสริมการปลูกสมุนไพร สร้างป่า สร้างรายได้ ได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาปฏิบัติใช้อย่างแท้จริง จากแต่เดิมที่ปลูกข้าวทำนาเพียงอย่างเดียว และต้องประสบปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ผลผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งต้องกู้เงินมาลงทุนทำนา เมื่อขายข้าวได้แล้วก็นำเงินไปใช้หนี้วนเวียนอยู่อย่างนี้ แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ได้นำต้นกล้าสมุนไพรมาปลูก ได้รับความรู้และวางแผนนำสมุนไพรอื่นๆ ที่ระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้นมาปลูกเสริม ทดแทนกลุ่มสมุนไพรที่ต้องใช้ระยะเวลารอผลผลิตนาน นอกจากนี้ยังสร้างบ่อน้ำ เลี้ยงปลา และเลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ รวมไปถึงเลี้ยงวัวเพื่อใช้ทำปุ๋ยหมัก ใช้ชีวิตตามเศรษฐกิจพอเพียง ทำไร่นาสวนผสม ทำให้สมาชิกเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีผลผลิตไว้กินไว้ใช้ตลอดปี ที่เหลือก็แบ่งขายสร้างรายได้

โดย เพ็ญภาค กำหนดเป้าหมายเอาไว้ว่าภายใน 10 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2570) ครึ่งหนึ่งของสมุนไพรทั้งหมดที่บริษัทนำมาปรุงยา ต้องสามารถระบุแหล่งผลิตว่ามาจากไหน เกษตรกร คนใดเป็นคนปลูก ดังนั้นการเติบโตของบริษัทควรจะเป็นการเจริญเติบโตแบบGreen Growth ที่มีความมั่นคงยั่งยืน และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมก็จะไม่ถูกทำลาย ที่สำคัญเมื่อทำการปลูกแบบเกษตรแบบผสมผสาน ความเป็นอยู่ของเกษตรกรก็ดีไปด้วย ลักษณะเช่นนี้ คือความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง

สนใจเข้าร่วมโครงการ โทร. 02-534-115-20 ต่อ 344

100 ปี สตรีเพ็ญภาค ปลูกสมุนไพร สร้างป่า สร้างรายได้ 100 ปี สตรีเพ็ญภาค ปลูกสมุนไพร สร้างป่า สร้างรายได้ 100 ปี สตรีเพ็ญภาค ปลูกสมุนไพร สร้างป่า สร้างรายได้