ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ตนได้รับรางวัลบทความวิจัยยอดเยี่ยม สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากผลงานวิจัย เรื่องความสามารถของเชื้อราบิวเวอเรีย บาสเซียน่า สำหรับการผลิตเอนไซม์เซลลูเลส (The Capability of Beauveria bassiana for Cellulase Enzyme Production) ในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ 7th International Conference on Bioscience, Biochemistry and Bioinformatics (ICBBB 2017) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-23 มกราคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรม ชาโตเดอ บางกอก กรุงเทพฯ ซึ่งผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย เรื่อง "การหาสภาวะที่เหมาะสมของการผลิตเอนไซม์เซลลูเลส และไซลาเนส ที่มีผลต่อการเลี้ยงเชื้อราฆ่าแมลงในวัสดุเศษเหลือทางการเกษตร" (สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ)
ดร.วนิดา กล่าวว่า เชื้อรา Beauveria bassiana เป็นเชื้อราฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงได้หลายชนิด เช่น Lepidoptera Hymenopterta Coleoptera และ Leptinotarsa เป็นต้น สามารถผลิตสารที่เป็นพิษต่อแมลง และผลิตเอนไซม์ย่อยสลายโครงสร้างของแมลง ได้แก่ เอนไซม์ไคติเนส โปรติเอส และไลเปส ซึ่งหลายหน่วยงานให้การสนับสนุนในการใช้เชื้อราชนิดนี้ทางการเกษตร แต่อย่างไรก็ตาม การผลิตเชื้อราดังกล่าว ยังมีต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณ ซึ่งการมองหาวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรมาเป็นแหล่งวัตถุดิบต้นทุนต่ำในการผลิตเชื้อราชนิดนี้ จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่นอกจากจะส่งเสริมการใช้วิธีการควบคุมศัตรูพืชแบบชีววิธีแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของเสีย ใช้ของเสียให้เกิดประโยชน์ และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษ เกิดความอย่างยั่งยืนตามแนวทางโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทั้งนี้ ด้วยบริบทของประเทศไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรม มีระดับการผลิตพืชผลทางการเกษตรต่อเนื่อง เกิดผลพลอยได้ที่เป็นวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรที่หลากหลาย แต่ถูกใช้ประโยชน์น้อย ดังนั้น ผลงานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นการศึกษาความสามารถของเชื้อรา Beauveria bassiana ในการผลิตเอนไซม์เซลลูเลส เพื่อย่อยสลายวัสดุเศษเหลือที่มีองค์ประกอบหลักเป็นลิกโนเซลลูโลส ที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าหรือแปรรูปต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งใช้วัสดุเศษเหลือเหล่านี้เป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตเชื้อรา Beauveria bassiana ซึ่งการศึกษาการผลิตเอนไซม์เซลลูเลสจากเชื้อราชนิดนี้จากที่ยังไม่มีรายงานมาก่อน จะเป็นข้อมูลเชิงวิชาการสำคัญที่เป็นประโยชน์ และยืนยันได้ถึงโอกาสในการใช้วัสดุเศษเหลือทางการเกษตรหลากหลายชนิดที่มีองค์ประกอบหลักเป็นลิกโนเซลลูโลสได้ต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit