UNC (เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่) ปี 4 ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ผลิตนักศึกษาด้านศิลปะให้มีสำนึกความเป็นพลเมือง สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยในเครือข่าย บูรณาการกิจกรรมเรียนรู้จากโจทย์จริง จากสังคมจริง เข้ากับการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน(บรรจุไว้ในรายวิชาตามหลักสูตรปกติ) อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ 11 มหาวิทยาลัยขานรับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยโดยตรง จากเวทีประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และเครือข่ายองค์การบริหารงานวิจัยแห่งชาติ สรุปไว้ชัดเจนถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 โดยผ่านมหาวิทยาลัย โดยมีสองบทบาทสำคัญคือ 1. บทบาทการสร้างคนในเรื่องปฏิรูปการศึกษา 2. บทบาทในการขับเคลื่อนการวิจัยและการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่" (UNC:UNIVERSITY NETWORK FOR CHANGE) ที่กำลังผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ผลลัพธ์นักศึกษาด้านศิลปะให้เกิดสำนึกความเป็นพลเมือง
ผศ.อาวิน อินทรังษี ประธานเครือข่ายฯ ได้เผยถึงเป้าหมายสำคัญของโครงการปี 2560 นี้ คือมหาวิทยาลัยทั้ง 11 แห่ง 14 คณะ ที่เข้าร่วมโครงการเห็นความสำคัญนำรูปแบบของกระบวนการเรียนรู้จากโจทย์จริง ปัญหาจริง นำเข้าสู่รายวิชาในชั้นเรียน โดยโครงการมีความเชื่อว่า "เยาวชนเป็นวัยทีพร้อมจะออกไปเรียนรู้โลกกว้าง บทบาทของผู้ใหญ่ต้องเปิด"โอกาส"และ"พื้นที่" การเรียนรู้ให้พวกเขาได้เรียนรู้ชีวิตจริง และใช้ศักยภาพของตนเองทำประโยชน์เพื่อชุมชนสังคม..." "ขณะนี้รัฐบาลกำลังทำยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลก็มีเป้าหมายชัดที่การพัฒนาคน และกำลังหลักสำคัญที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ฯนี้ เดินหน้าไปได้ ก็คือมหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่โดยตรงในการบ่มเพาะพลเมืองของชาติ ดังนั้น มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการนี้ ที่ทำหน้าที่สอนด้านนิเทศศิลป์ ศาสตร์ที่เราสอนคือสอนให้ลูกศิษย์ไปรับใช้ธุรกิจการค้าเป็นหลัก ทั้งเรื่องโฆษณา การสร้างภาพต่างๆ บางทีจะทุนนิยมมาก เราจึงคิดว่าหากเราสามารถเติมบางอย่างให้นักศึกษาให้มีคุณภาพทั้งภายในและภายนอกได้ จะเป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ การสอนเรื่องการทำสื่อนั้นสำคัญ เพราะสื่อมีอิทธิพลมากในปัจจุบัน เราเชื่อว่ากระบวนการเรียนการสอนเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะสามารถสร้างพลเมืองให้มีจิตสำนึกต่อประเทศ ต่อโลก และเป็นพลเมืองคุณภาพได้ ถึงแม้จะเป็นแค่รายวิชาหนึ่ง ผมก็คิดว่าช่วยได้เยอะ" โครงการดำเนินงานโดยคณะกรรมการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (ประกอบด้วยคณาจารย์จาก 11 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม) สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
กระบวนการสร้างจิตสำนึกในโครงการ เป็นรูปแบบการบูรณาการเรียนการสอนแบบเลคเชอร์และนอกห้องเรียนให้นักศึกษาได้พบประสบการณ์ตรง โดยมีการเวิร์คช้อปให้นักศึกษาได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ มหาวิทยาลัยอื่น จำนวน 4 ครั้งแล้ว โดยการนำเสนอการผลิตสื่อบนโจทย์สังคมที่เลือกแล้วอย่างไรบ้าง นอกจากนี้นักศึกษายังได้ลงสัมผัสพื้นที่จริง โจทย์จริงโดยการลงพื้นที่ที่ตนเองเลือกเรียนรู้เพิ่อเก็บข้อมูลอีกด้วย ."ผมคิดว่าการที่นักศึกษาได้มาเจอคนอื่น ได้มาเจอเคสที่เป็นของจริง ได้เจอเจ้าของโจทย์จริง ผมคิดว่าเป็นเรืองการเรียนรู้โดยธรรมชาติ เหมือนวิธีการปลูกความคิดอะไรบางอย่าง การที่ได้มีประสบการณ์ตรงแทนที่จะได้รับการบอกเล่าจากอาจารย์หรือไปอ่านเองจากอินเตอร์เนต น่าจะทำให้นักศึกษาได้เกิดความคิดอะไรบางอย่างในตัวเอง เพราะได้มารู้อะไรที่เป็นเชิงลึกมากกว่า ศิลปินหรือนักออกแบบมีคนทำงานเก่งเยอะ แต่ประเทศชาติกำลังขาดคือจิตสำนึก โครงการนี้เราอยากได้คนที่นึกถึงคนอื่น ไม่ได้นึกถึงแต่ตนเอง นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะได้ฝึกทักษะต่างๆเกี่ยวกับวิชาที่เรียน และสองนักศึกษาจะได้นึกถึงสังคมไปพร้อมๆ กัน ผมเชื่อว่ามีเด็กบางส่วนที่เข้าร่วมกิจกรรมแล้ว จะไปปลูกอะไรบางอย่างในจิตใจ คนเราพอได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นสักครั้ง เขาจะอินและซาบซึ่ง ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะต่อยอดไปเรื่อยๆ เด็กเขาน่าจะเกิดจิตสำนึกได้จากตรงนี้"
สำหรับ 5 ประเด็นทางสังคมที่เลือกมาได้แก่ 1.สิ่งแวดล้อม 2.ความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียม 3.ความรุนแรงในสังคม 4.สุขภาวะและโภชนาการ และ 5.สื่อปลอดภั้ยและสร้างสรรค์ ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นทางสังคมที่กำลังรอการแก้ไข การนำทั้ง 5 หัวข้อมาให้นักศึกษาได้เลือกเพื่อเป็นโจทย์ในการทำงานสื่อสร้างสรรค์นั้น ได้ผ่านกระบวนการแรกคือการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 "เวทีสร้างแรงบันดาลใจจากโจทย์ประเด็นทางด้านสังคม" โดยมีเจ้าของโจทย์ตัวจริงมาเล่าให้ฟัง ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม โดยคุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากมูลนิธิชีววิถี (Biothai) ,คุณเดชา ศิริภัทร จากมูลนิธิข้าวขวัญ ประเด็นความหลื่อมล้ำและความเท่าเทียม โดยคุณทองพูล บัวศรี จากมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก , คุณสุริยา สมสีลา จากมูลนิธิเด็กพิการ ประเด็นความรุนแรง โดยคุณบัณฑิต แป้นวิเศษ จากมูลนิธิเพื่อนหญิง , คุณสุวรา แก้วนุ้ย จาก Deep South Watch ประเด็นสุขภาพและโภชนาการ โดยอาจารย์กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร และประเด็นสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยคุณสุรเสกข์ ยุธธิวัฒน์ เจ้าของเพจ Toolmorrow หลังจากนักศึกษาได้ฟังข้อมูลจากวิทยากรแล้ว ได้ร่วมกันระดมสมองเพื่อเลือกประเด็นที่จะนำไปเป็นโจทย์ในการทำงานต่อโดยการออกมานำเสนอหน้าห้องถึงประเด็นที่เลือกและเป้าหมาย ความคาดหวังที่ต้องการจะทำสื่อชิ้นนั้นออกมา ประเด็นที่นักศึกษาให้ความสนใจมากที่สุดคือประเด็นความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียม ทั้งความเหลื่อมล้ำเรื่องเพศ เชื่องชาติ ศาสนา หรือคุณค่าความเป็นมนุษย์ จากที่นักศึกษาได้สะท้อนความคิดออกมา ทางวิทยากรเจ้าของเรื่อง คุณทองพูล บัวศรี จากมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กได้ให้ข้อเสนอแนะอย่างน่าสนใจว่า "สิ่งที่ต้องทำการบ้าน คือ การลึกในประเด็นนั้นๆ และการเลือกเรื่องตรงกับสิ่งที่อยากนำเสนอหรือไม่ เช่น การนำเสนอเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กในเมืองกับชนบท เป็นเรื่องของการเข้าถึงและคุณภาพการศึกษาด้วยหรือไม่ ต้องลงรายละเอียดให้ลึก เป็นประเด็นที่ต้องไปให้ถูกทิศถูกทาง เพราะสื่อที่ทำออกมาจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้"
รายชื่อ 11 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมได้แก่ 1.ม.ศิลปากร 2.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3.สถาบันเทคโนโลยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 4.ม.นเรศวร 5.ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 6.ม.บูรพา 7.ม.อัสสัมชัญ 8.ม.มหาสารคาม 9.ม.กรุงเทพ 10.ม.รังสิต 11.ม.ศรีนครินทรวโรฒ หลังจากนี้นักศึกษาทั้ง 11 สถาบัน จะต้องกลับไปปรึกษากับอาจารย์และลงพื้นที่จริง โดยขอคำปรึกษาจากวิทยากรเจ้าของเรื่อง สุดท้ายนักศึกษาจะได้งานที่ตอบโจทย์และปัญหาสังคมได้อย่างไร? ต้องติดตามกันในเวิร์คช้อปครั้งที่ 2 ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ ที่ ม.รังสิต สนใจติดตามข้อมูลโครงการได้ที่ www.scbfoundation.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit