กสอ. สานความร่วมมือเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น 130 ปี ควง SMRJ ดึง “เจแปนโมเดล”เสริมแกร่ง SMEs ไทย

31 Jan 2017
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมมือกับ องค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น(SMRJ) นำองค์ความรู้ในการพัฒนา SMEs ของประเทศญี่ปุ่น มาถ่ายทอดแก่ SMEs ไทย โดยกรอบเนื้อหาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ การติดต่อเชื่อมโยงและประสานการเจรจาธุรกิจ การสนับสนุนในด้านการศึกษาดูงาน การอบรมแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญ การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานการส่งเสริมต่าง ๆ การสนับสนุนโครงการ Shindan การนำรูปแบบการดำเนินงานของ SMRJ มาปรับใช้ในการจัดตั้งศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (BSC) ฯลฯ โดยคาดว่าการร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างให้ SMEs ไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น สามารถเข้าถึงในการพัฒนา SMEs ไทยในทุกระดับกว่าหลายหมื่นราย ในปี 2560 อย่างไรก็ตามในปี 2560 ประเทศไทยและญี่ปุ่นถือเป็นปีแห่งการครบรอบความสัมพันธ์ของไทยและญี่ปุ่น 130 ปี ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในการสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีมาอย่างยาวนานและลึกซึ้ง
กสอ. สานความร่วมมือเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น 130 ปี ควง SMRJ ดึง “เจแปนโมเดล”เสริมแกร่ง SMEs ไทย

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 130 ในปี พ.ศ.2560 นี้ โดยประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นยังมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีความลึกซึ้งมีลักษณะพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทั้งยังมีการร่วมมือและการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีทิศทางที่ดีขึ้น รวมทั้งผลสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะการให้การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ SMEs ซึ่งหนึ่งในองค์กรสำคัญที่มีการร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs อย่างเด่นชัดคือ องค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือSMRJ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สามารถให้บริการธุรกิจ SMEs ได้อย่างครบวงจรทั้งด้านการพัฒนาบุคลากร ข้อมูลข่าวสารการสนับสนุนด้านเงินทุน ตลอดจนการสนับสนุนด้านบริการพื้นฐานต่าง ๆ อย่างครบวงจร SMRJ จึงถือเป็นแกนหลักสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนSMEs ของญี่ปุ่นให้มีพลังขับเคลื่อนธุรกิจ

ดร.อุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นได้รับความร่วมมือจาก SMRJ ทั้งการบริหารจัดการ การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ การจับคู่ธุรกิจ การศึกษาดูงาน รวมทั้งประเทศญี่ปุ่นยังมีบทบาทหลักต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในด้านการค้าและการลงทุน ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงยังคงไว้ซึ่งความสำคัญในการร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น โดยนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีที่กำลังขับเคลื่อนเรื่อง SMEโดยเน้นการส่งเสริมในระดับฐานรากของประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ดึง SMRJเข้ามาช่วยสนับสนุนโดยขอให้ SMRJ ส่งผู้เชี่ยวชาญมาดูงานที่ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (Business Service Center: BSC) และ ศูนย์ช่วยเหลือ SMEs (SME Rescue Center) เพื่อให้คำแนะนำในการปรับปรุงการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น และขอคำแนะนำในการพัฒนาระบบการสร้างเครือข่ายการส่งเสริม SME ในภูมิภาค โดยที่ กสอ. ได้มีการดำเนินโครงการ Regional Integrated SME Promotion (RISMEP) ซึ่งเป็นโครงการในการส่งเสริม SMEs ในท้องถิ่นแบบบูรณาการ โดยการสร้างเครือข่ายผู้ทำหน้าที่ให้การส่งเสริม SMEs รวมทั้งขอให้ SMRJ ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการกองทุนที่สนับสนุน SME ญี่ปุ่น จนประสบความสำเร็จให้ข้อแนะนำในการบริหารจัดการกองทุน และขอผู้เชี่ยวชาญ มาช่วย กสอ. ในการวางแนวทางการใช้เงินกองทุนพัฒนา SME ประชารัฐสองหมื่นล้าน และการยกระดับความรู้ของ SME โดยเฉพาะเรื่องดิจิทัลซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามความร่วมมือ กับSMRJ เมื่อปี 2557 ในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและ SME ที่ผ่านมาได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานการส่งเสริมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม การให้ความช่วยเหลือแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของทั้งสองประเทศ โดยจัดให้มีการติดต่อเชื่อมโยงและประสานการเจรจาธุรกิจ การสนับสนุนข้อมูลระหว่างกันและกัน การศึกษาดูงาน การอบรมแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญ ฯลฯโดยความร่วมมือดังกล่าวประเทศไทยจะได้ถอดแบบการพัฒนา SMEs ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศชั้นนำของโลกในการพัฒนา SMEs อันจะส่งผลให้นโยบายและการดำเนินงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สอดคล้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคาดว่าในปี 2560 จะสามารถส่งเสริม SMEs ในภาพรวมทั้งประเทศได้หลายหมื่นราย

ทั้งนี้ SMRJ ได้ให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการสนับสนุน SMEs ของ กสอ. และหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยที่ผ่านมา กสอ. และ SMRJ ได้ร่วมมือกันในการพัฒนา SMEs อย่างต่อเนื่อง อาทิ ความร่วมมือในการสร้างหลักสูตรนักวินิจฉัยเพื่อพัฒนา SMEs การให้พื้นที่กับผู้ประกอบการไทยที่มีนวัตกรรมเข้าร่วมงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในงาน SME Fair ณ กรุงโตเกียวและนครโอซาก้า การจัดทำข้อมูลของผู้ประกอบการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน website ของJ-GoodTech เพื่อประโยชน์ในการสืบค้นข้อมูลซึ่งกันและกัน การจัดตั้งศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (Business Service Center: BSC) ของ กสอ.ที่นำรูปแบบการดำเนินงานของ SMRJ มาปรับใช้เพื่อให้บริการข้อมูลสารสนเทศและบริการปรึกษาแนะนำเบื้องต้นทางด้านธุรกิจอุตสาหกรรม เป็นต้น ดร.พสุ กล่าวปิดท้าย

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ กสอ.ยังได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับ SMRJ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างเครือข่ายในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ในการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน โดยมี ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ นายวาตานาเบะ กรรมการบริหาร SMRJ เป็นผู้ลงนาม ณ ห้องชุณหะวัณ ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารของฝ่ายไทยและญี่ปุ่นเข้าร่วมงาน

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (BSC) สำนักบริหารยุทธศาสตร์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 02-202-4426-7 หรือเข้าไปที่ http://bsc.dip.go.th

HTML::image( HTML::image( HTML::image(