ไทยเดินหน้าสร้างเครือข่ายการเตรียมวัคซีนมาตรฐาน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก

30 Jan 2017
ประเทศไทยโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับองค์การอนามัยโลก ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการเรื่องคลังวัคซีนมาตรฐานของภูมิภาค การจัดเตรียมวัคซีนมาตรฐานสำหรับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอทัยป์1 และวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีเชื้อเป็น รวมทั้งจัดทำร่าง MOU สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในระยะยาว
ไทยเดินหน้าสร้างเครือข่ายการเตรียมวัคซีนมาตรฐาน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลก จัดการประชุม"Network of the National Control Laboratories (NCLs) of South-East Asia" ซึ่งประกอบด้วยผู้เข้าร่วมประชุม 26 คน จากองค์การอนามัยโลก (WHO) สำนักงานใหญ่ องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ทั้งนี้เพื่อติดตามความก้าวหน้า และการดำเนินการของวัคซีนมาตรฐานสำหรับป้องกันโรคโปลิโอ และวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีเชื้อเป็น รวมถึงเพื่อสร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการพัฒนาและจัดเตรียมวัคซีนมาตรฐาน ซึ่งการจัดตั้งเครือข่ายนี้จะส่งผลให้ประเทศในเครือข่ายต่างได้รับประโยชน์ มีการปรึกษาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการจัดเตรียมวัคซีนมาตรฐานของแต่ละประเทศ รวมถึงการแสดงเจตจำนงในการให้ความร่วมในการจัดเตรียมวัคซีนมาตรฐานของภูมิภาค ที่ประชุมมีมติร่วมกันให้มีการจัดเตรียมวัคซีนมาตรฐานสากลสำหรับวัคซีนเจอีขึ้นเนื่องจากโรคไข้สมองอักเสบเจอีเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศในแถบภูมิภาคนี้ การมีวัคซีนมาตรฐานสากลจะสร้างความเชื่อมั่นต่อการประกันคุณภาพของวัคซีนในภูมิภาค ส่งผลให้เกิดวัคซีนที่จำหน่ายในแต่ละประเทศได้มาตรฐานสากลมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันไม่มีวัคซีนเจอีมาตรฐานสากล หน่วยงานควบคุมกำกับจึงต้องใช้วัคซีนมาตรฐานของผู้ผลิตเป็นหลัก

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า การประชุมนี้เป็นการประชุมสืบเนื่องจากการประชุมร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการภาครัฐของประเทศที่ผลิตวัคซีนในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย อินเดีย อินโดนีเซีย และประเทศไทย ในปี 2004 ที่กรุงเทพมหานคร ถึงการแก้ปัญหาการขาดแคลนวัคซีนมาตรฐานสำหรับการควบคุมคุณภาพ โดยประเทศไทยได้เสนอโครงการจัดเตรียมวัคซีนมาตรฐานสำหรับภูมิภาคขึ้น ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในการสร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อร่วมกันพัฒนาและจัดเตรียมวัคซีนมาตรฐานอ้างอิงมาใช้ร่วมกันในเบื้องต้นและได้รับความเห็นชอบให้อยู่ภายใต้การสนับสนุนขององค์การอนามัยโลกในเขตภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO) ในการประชุมนี้ได้มีการเสนอร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding, MOU) และข้อกำหนด (Terms of Reference, TOR) โดยมีห้องปฏิบัติการของ WHO ร่วมให้ข้อมูลความคิดเห็นในการจัดทำ MOU และข้อตกลงแลกเปลี่ยนการถ่ายโอนวัสดุ (Material Transfer agreement, MTA) เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องโดยไม่มีความผูกพันทางกฎหมาย

จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2555 ประเทศสมาชิกเห็นว่าประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีระบบควบคุมกำกับที่เข้มแข็งมีเพียง 3 ประเทศคือ ประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และไทย เท่านั้น จึงมีแนวคิดที่จะขยายเครือข่ายไปยังประเทศแถบแปซิฟิกตะวันตก ได้แก่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีน ออสเตรเลีย และเวียดนาม ในที่ประชุมจึงมีมติที่จะเตรียมวัคซีนมาตรฐานสำหรับสองภูมิภาค (bi-regional) จึงเป็นที่มาของการขยายเครือข่าย ปัจจุบันนี้มีวัคซีนอ้างอิงมาตรฐานของภูมิภาคอยู่ 3 ชนิดที่ผ่านการศึกษาร่วมกันในการกำหนดค่าที่เป็นมาตรฐานคือวัคซีนอ้างอิงมาตรฐานสำหรับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนในปี พ.ศ.2555 สำหรับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอทัยป์ 1 ในปี พ.ศ.2556 และสำหรับวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีเชื้อเป็นในปี พ.ศ.2557 เก็บที่สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์สุขุม กล่าว

HTML::image(