นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นถือเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญและสามารถสร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาล ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกของอุตสาหกรรมแฟชั่น ในปี 2558 ที่มีมูลค่ามากกว่า 6 แสนล้านบาท นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณ 10 % จากรายได้ทั้งหมดของประเทศ โดยพบว่าสินค้าแฟชั่นไทยได้รับการตอบรับที่ดีมากขึ้นในกลุ่มประเทศ AEC ด้วยจุดแข็งของภาพลักษณ์สินค้าที่โดดเด่นในเรื่องทักษะฝีมือและคุณภาพและเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจในด้านการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาผู้ประกอบการ สถานประกอบการ บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงได้จัด "กิจกรรมสร้างนักออกแบบผลิตภัณฑ์" ภายใต้ "โครงการศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ Thailand Industrial Design Center : Thai iDC โดยเริ่มดำเนินการเมื่อปลายปี 2559 ด้วยแนวคิดที่สำคัญคือการยกระดับและพัฒนาศักยภาพของนักออกแบบไทย และสร้างศูนย์กลาง ที่จะเชื่อมโยงนักออกแบบไทยกับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นนโยบายจำเป็นต้องเร่งมือ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ ของนักออกแบบไทยให้มีความพร้อมกับการแข่งขันในระดับสากลและก้าวสู่เป้าหมายสูงสุด รวมถึงการยกระดับและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ไทยเป็นศูนย์กลางการออกแบบของอาเซียนภายใน 5 ปีนี้
สำหรับกิจกรรมสำคัญภายใต้ "โครงการศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์" Thailand Industrial Design Center : Thai iDC ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่
1. กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพนักออกแบบผลิตภัณฑ์สู่สากลในรูปแบบ Academy โดยสร้างโอกาสให้นักออกแบบที่มีประสบการณ์แล้วพอสมควร ได้พัฒนาศักยภาพและยกระดับให้เป็นที่ยอมรับสู่ระดับสากลโดยมีกิจกรรม Workshop แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เสริมสร้างแรงบันดาลใจเพื่อขับเคลื่อนพลังแห่งความฝันก่อเกิดเป็นแนวคิด แล้วนำไปประยุกต์ใช้สร้างสรรค์เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ทันกระแสสังคม รวมถึงการปรับทัศนคติ/ความคิดให้มีความเป็นนักออกแบบและเป็นนักธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน ด้วยสังคมการเรียนรู้ร่วมกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็น Academy ต้นแบบตัวอย่าง ของผู้นำเชิงสร้างสรรค์ และเป็นสื่อกลางเพื่อเผยแพร่แนวความคิด ประสบการณ์ องค์ความรู้ต่าง ๆ สู่สาธารณชนในวงกว้าง จำนวน 40 คน โดยมี บริษัท กันตนา กรุ๊ป เป็นที่ปรึกษา
2. กิจกรรมสร้างเครือข่ายและฐานข้อมูลนักออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างนักออกแบบผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ เข้าสู่ความเป็นมืออาชีพ และสร้างกลุ่มนักออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีศักยภาพ จำนวน 1 เครือข่าย ไม่น้อยกว่า 40 คน โดยส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มนักออกแบบ มีแหล่งข้อมูลสนับสนุนเพื่อเตรียมตัวสู่ความเป็นนักออกแบบมืออาชีพ จัดทำฐานข้อมูล เว็บไซต์ designernetwork.com โดยมีข้อมูลแนวโน้มการออกแบบผลิตภัณฑ์ในแต่ละสาขาของอุตสาหกรรมแฟชั่น ข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ ประวัติ Folio ผลงานที่ผ่านมาของนักออกแบบ เพื่อให้ผู้ที่สนใจหรือต้องการหาบุคลากรมาช่วยออกแบบพัฒนาสินค้าสามารถติดต่อได้โดยตรง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการแก่นักออกแบบและผู้ประกอบการในอนาคต โดยมี ดร.อโนทัย ชลชาติภิญโญ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา
3. กิจกรรมเชื่อมโยงนักออกแบบผลิตภัณฑ์กับโรงงานอุตสาหกรรม โดยจับคู่เชื่อมโยงนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้สามารถทำงานร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งความเป็นไปได้ในการผลิตในระบบอุตสาหกรรม เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมปรับแนวคิดจาก OEM เป็น ODM มากขึ้นและเป็นการสร้างโอกาสให้กับนักออกแบบที่มีแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ ได้นำเสนอผลงานสู่อุตสาหกรรม ในภาคการผลิต และปรับทัศนคติระหว่างนักออกแบบกับโรงงานให้มีความต้องการตรงกันในด้านแนวคิดที่สอดคล้องกันและกัน โดยมีเป้าหมายเชื่อมโยงนักออกแบบ จำนวน 50 ราย ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดจากความร่วมมือของที่ปรึกษา ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อสร้างมิติใหม่ให้กับวงการนักออกแบบไทยด้วย 3 ไฮไลท์สำคัญ คือ
ไฮไลท์ที่ 1 ประสบการณ์ครั้งสำคัญที่เหล่าผู้ประกอบการและนักออกแบบที่เข้าร่วมหลักสูตร "Workshop Design Business" ที่ถูกออกแบบขึ้นพิเศษให้ครอบคลุมเนื้อหาและกระบวนการสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและแรงบันดาลใจ อีกทั้งมีความเข้าใจในการทำธุรกิจแฟชั่นในยุคปัจจุบัน โดยได้รับเกียรติจาก 10 แฟชั่นและสไตล์ไอคอนคนดังที่จะร่วมเป็นวิทยากรอย่างใกล้ชิด อาทิ คุณสมชัย ส่งวัฒนา เจ้าของแบรนด์ Flynow แบรนด์ไทยที่โด่งดัง ไกลในระดับโลก, คุณพลพัฒน์ อัศวะประภา เจ้าของแบรนด์ ASAVA, คุณชัยชน สวันตรัจฉ์ เจ้าของแบรนด์ Goodmixer & Muse ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร, คุณสุริยน ศรีอรทัยกุล เจ้าของแบรนด์เครื่องประดับดัง Beauty Gems, คุณชวมณฑ์ ปวโรดม เจ้าของแบรนด์กระเป๋าหนัง Exotic ชื่อดัง แบรนด์ S'uvimol, ผศ.ดร. อโนทัย ชลชาติภิญโญ หัวหน้าภาควิชาการสิ่งทอ ม.เกษตรศาสตร์, คุณดลชัย บุญยะรัตเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ชื่อดังของเมืองไทย, คุณภัทรียา ณ นคร อดีตผู้ดูแลและนำเข้าแบรนด์ระดับโลก Gucci, คุณพันธ์สิริ สิริเวชพันธ์ ช่างภาพมืออาชีพระดับแถวหน้า, คุณบัญชา ชูดวง สไตล์ไดเร็กเตอร์อิสระและเป็นอาจารย์พิเศษด้านแฟชั่นดีไซน์
ไฮไลท์ที่ 2 โอกาสครั้งสำคัญที่ผู้ประกอบการและนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้แสดงผลงานการออกแบบสู่สายตาประชาชนในวงกว้างผ่านรายการดัง The Face Thailand Season 3 ที่มีผู้ชมมากถึงหลักล้านคน ที่จะสร้างการรับรู้ในวงกว้าง ส่งเสริมภาพลักษณ์ และต่อยอดความสำเร็จได้ในอนาคต
ไฮไลท์ที่ 3 การเปิดประสบการณ์วงการแฟชั่นระดับโลก กับกิจกรรมการดูงานแฟชั่นวีค ระดับโลก ที่ Paris Haute Couture Fashion Week
นอกจากนี้ หัวใจหลักที่สำคัญของโครงการนี้ คือ การนำเอาองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการและนักออกแบบของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยที่ประสบความสำเร็จและโดดเด่นบนเวทีโลกมารวมกันไว้ที่เดียวได้อย่างลงตัวพร้อมกับการร่วมเป็นพันธมิตรที่มีศักยภาพ ผ่านช่องทางที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและมีศักยภาพอย่างรายการ The Face Thailand เพื่อให้เกิดการยอมรับในความสามารถของนักออกแบบไทยและสร้างสรรค์ คลื่นลูกใหม่ประดับวงการแฟชั่นไทย ได้อย่างแน่นอน นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ขอเชิญผู้ประกอบการ นักออกแบบจากอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์" Thailand Industrial Design Center : Thai iDC เพื่อแสดงออกถึงพลังแห่งการเรียนรู้ที่จะไม่มีวันสิ้นสุด โดยสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ ผ่านพันธมิตรทั้ง 3 หน่วยงาน หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ถนนพระรามที่ 4 เขตคลองเตย กรุงเทพ ฯ โทรศัพท์ 0 2367 8201, 0 2367 8227 และติดตามข้อมูลข่าวสารโครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ที่ www.dip.go.th หรือ facebook.com/dip.pr
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit