นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (Mr. Aphinant Klewpatinond, Chief Executive Officer, Kiatnakin Phatra Financial Group) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประกอบไปด้วย ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) (บล.ภัทร) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด (บลจ. ภัทร) มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีพัฒนาการที่น่าพอใจ โดยเฉพาะปี 2559 KKP มีผลประกอบการสูงกว่าประมาณการที่ระดับ 5,547 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.2 เมื่อเทียบกับปี 2558 หากพิจารณากำไรเบ็ดเสร็จรวมจะเท่ากับ 5,756 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 84.6 อีกทั้งควบคุมต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของช่องทางสาขาได้มีการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการ ตลอดจนนำบริการ KK e-Banking ซึ่งเป็นช่องทางในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเตอร์เน็ตมาช่วยเสริม เพื่อให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการด้านการเงินได้ด้วยตนเอง ทั้งในรูปแบบของเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น และได้มีการพัฒนาสาขารูปแบบใหม่ให้เป็น Financial Hub ที่เน้นการให้คำปรึกษาทางด้านการเงินและการลงทุนอย่างครบวงจร ปัจจุบันมี 2 แห่ง ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และ ทองหล่อ ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2559 ธนาคารมีสาขารวมทั้งสิ้น 66 สาขา นอกจากนี้ ยังสามารถรักษาคุณภาพของสินเชื่อให้ปรับตัวดีขึ้นจากสิ้นปี 2558
อย่างไรก็ตาม มองว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 นี้ คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ และจากการวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 3.2% ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในครึ่งแรกของปี และหวังว่าการลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นช่วยพยุงเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังได้ นอกจากนี้ ยังประเมินว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งการเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ แรงงาน การลงทุน และผลิตภาพการผลิต
"ในปี 2560 นี้ สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือความผันผวนสูงในธุรกิจตลาดเงินและตลาดทุนของไทย และของโลก ตลอดจนเทคโนโลยีทางการเงินที่เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยกลุ่มธุรกิจฯ ยังคงให้ความสำคัญกับบริหารความเสี่ยง ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง ตั้งเป้าในการเป็นสถาบันการเงินเพื่อการ จัดการเงินและการลงทุน รักษาผลการดำเนินงานที่ดีให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต ด้วยยุทธศาสตร์การแข่งขันใน 3 ด้าน คือ เริ่มต้นจากการเป็น Credit House ที่มีประสิทธิภาพควบคุมคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง และจากการประเมินอัตราปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 4 ปี 2559 ทีผ่านมา คาดว่าปี 2560 นี้ จะสามารถขยายสินเชื่อได้อีกราว 5% จากสิ้นปี 2559 ที่มียอดรวมของสินเชื่อรายย่อยที่ 124,000 ล้านบาท โดยอาศัยเครือข่ายสาขาและสายงานช่องทางการตลาดและพัฒนาฐานลูกค้าที่จัดตั้งใหม่ ซึ่งเป็นช่องทางอำนวยสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพสำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเคหะ สินเชื่อ KK SME รถคูณ 3 ตลอดจนพัฒนาการทำ Cross Selling ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เข้มข้นขึ้น และในส่วนของสินเชื่อธุรกิจ จะเน้นการให้สินเชื่อเครื่องจักรและวัสดุก่อสร้าง รวมถึงสินเชื่อโรงแรม ซึ่งสอดคล้องกับแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในด้านการก่อสร้างและการท่องเที่ยว ถัดมาคือการต่อยอดธุรกิจ Private Bank ที่กลุ่มธุรกิจฯ มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์มายาวนาน ในปีนี้ จะมีการต่อยอดการเติบโต เพิ่มผลิตภัณฑ์และการบริการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมและสินทรัพย์ภายใต้การแนะนำ โดยในปี 2559 มีสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำ (Asset under Advice: AuA) อยู่ที่ 380,000 ล้านบาท (ไม่รวมเงินฝากและมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการของ บลจ.ภัทร) และที่สำคัญกองทุนจาก บลจ.ภัทร สามารถสร้างผลการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี เช่น กองทุนเปิดภัทร หุ้นระยะยาวปันผล (PHATRA LTFD) ได้รับเลือกให้เป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาวยอดเยี่ยมปี 2559 จากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) โดยเชื่อว่าธุรกิจดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการขยายธุรกิจตลาดทุนและสร้างเสถียรภาพของรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจฯ ในอนาคตได้เป็นอย่างดี และประการสุดท้ายคือรักษาความเป็นผู้นำในด้าน Investment Banking และเพิ่มความร่วมมือระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจตลาดทุนเพื่อขยายการทำธุรกิจและให้บริการแก่ลูกค้าสถาบันและลูกค้าบรรษัท ซึ่งจะเน้นเรื่องการบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ตลอดจนรักษาระดับคุณภาพให้อยู่ในกลุ่มผู้นำตลาดด้านงานวิจัย" นายอภินันท์ กล่าว
นายชวลิต จินดาวณิค ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Mr. Chavalit Chindavanig, Head of Finance and Budgeting, Kiatnakin Bank Plc.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานปี 2559 เปรียบเทียบกับปี 2558 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 5,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.2 เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 1,086 ล้านบาทหากพิจารณากำไรเบ็ดเสร็จรวมจะเท่ากับ 5,756 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 84.6 เป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุนจำนวน 1,075 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวมที่ 233,776 ล้านบาทลดลงร้อยละ 1.0 จาก สิ้นปี 2558 ทางด้านอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 18.53 โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับร้อยละ 15.01 แต่หากรวมกำไรถึงสิ้นปี 2559 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเท่ากับร้อยละ 20.40 และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับร้อยละ 16.87 ในส่วนของผลการดำเนินงานของธุรกิจธนาคารพาณิชย์นั้น สินเชื่อของธนาคารในปี 2559 หดตัวเล็กน้อยที่ ร้อยละ 0.8 โดยการหดตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับการหดตัวที่ร้อยละ 3.6 ในปี 2558 และร้อยละ 3.1 ในปี 2557 ทั้งนี้สินเชื่อของธนาคารที่มีการขยายตัวค่อนข้างดีได้แก่สินเชื่อ Lombard ขยายตัวที่ร้อยละ 208.2 สินเชื่อบุคคลขยายตัวที่ร้อยละ 105.0 สินเชื่อ Micro SMEs ซึ่งรวมสินเชื่อ KK SME รถคูณ 3 ขยายตัวที่ร้อยละ 90.7 และสินเชื่อเคหะขยายตัวที่ร้อยละ 289.5 ในด้านคุณภาพของสินเชื่ออัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมณสิ้นปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 5.6 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 5.8 ณ สิ้นปี 2558 โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพในส่วนของสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการปรับตัวดีขึ้นในระหว่างปีรวมถึงคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อที่ยังคงมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจตลาดทุนนั้น บล.ภัทรมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 4.81 เป็นอันดับที่ 4 จากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 36 แห่ง และมีรายได้ค่านายหน้า 1,610 ล้านบาท ในส่วนของธุรกิจจัดการกองทุน (Asset Management Business) โดย บลจ.ภัทร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการของกองทุนเป็นจำนวน 42,999 ล้านบาท"