สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2560 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 – 4.1) โดยยังคงได้รับแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมใหม่ๆ ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2560 อาทิ โครงการรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าในเขตเมือง โครงการมอเตอร์เวย์ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน ประกอบกับแนวโน้มรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกคาดว่าจะเป็นแรงสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามลำดับ คาดว่าจะส่งผลดีต่อปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก และการส่งออกบริการคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.3 – 2.3) ปรับตัวสูงขึ้นจากปีนี้ ตามแนวโน้มราคาพลังงานที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น"
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจด้านต่างๆ ของสหรัฐ" ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2559 และ 2560 (ณ เดือนมกราคม 2560)เอกสารแนบรายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2559 และ 2560 1. เศรษฐกิจไทยในปี 25591.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะสามารถขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยมีปัจจัยหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการเร่งรัดการใช้จ่ายการเบิกจ่ายของรัฐบาล ประกอบกับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งในระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 ที่มีความต่อเนื่อง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัว โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 0.5 และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 8.0 ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 เนื่องจากได้รับแรงขับเคลื่อนจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น มาตรการเงินโอนเพื่อผู้มีรายได้น้อย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี ประกอบกับเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรยังมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนเช่นกันโดยขยายตัวได้เล็กน้อย จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และการลงทุนภาครัฐในโครงการสำคัญต่างๆ ที่มีความก้าวหน้าและชัดเจนมากขึ้น สำหรับปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 โดยได้รับแรงส่งของการส่งออกสินค้าที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี และการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มหดตัวที่ร้อยละ -1.1 1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงแข็งแกร่งโดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศคาดว่า ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมาอยู่ที่ 36.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ร้อยละ 0.04 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวที่ร้อยละ -5.0 ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณ 46.4 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 11.6 ของ GDP2. เศรษฐกิจไทยในปี 25602.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ ร้อยละ 3.1 – 4.1) โดยยังคงได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 และโครงการลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2560 จำนวน 36 โครงการ วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท อันประกอบไปด้วยโครงการต่างๆ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าในเขตเมือง โครงการมอเตอร์เวย์ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน รวมทั้งการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 2560 ที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.5 – 9.5) เช่นเดียวกับการบริโภคภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.7 – 3.7) ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 – 3.5) ขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าจากแนวโน้มรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก และแนวโน้มการจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาพรวม นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 2.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2 – 3.2) ตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้น และการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติและกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนอย่างต่อเนื่องยังมีส่วนช่วยให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับที่สนับสนุนการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน สำหรับ อุปสงค์ภายนอกประเทศนั้น คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะเติบโตในอัตราร้อยละ 2.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.6 – 2.6) ขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามลำดับ และการส่งออกบริการที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.3 – 3.3) สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้จ่ายภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งขึ้นและการฟื้นตัวของภาคการส่งออก นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกด้วย2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 จะอยู่ที่ ร้อยละ 1.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.3 - 2.3) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามแนวโน้มราคาพลังงานที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น รวมทั้งแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 37.9 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 9.2 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.7 - 9.7 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 30.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 29.7 – 30.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.9 - 6.9) เร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 - 3.0)