เฉลิมฉลองเทศกาลด้วยการงดบริโภคหูฉลาม

26 Jan 2017
องค์กร ไวลด์เอด ช่วยสัตว์ป่า (WildAid) เชิญชวนประชาชนชาวไทยร่วมรณรงค์เลิกบริโภคหูฉลาม (Say No to Shark Fin) ในสัปดาห์นี้ เพื่อลดปริมาณการบริโภคหูฉลามตลอดการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน ที่แม้จะไม่ถือเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ในประเทศไทยแต่เทศกาลตรุษจีนถือได้ว่าเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่อีกอย่างหนึ่งของไทย และยังเป็นเทศกาลที่มีการบริโภคหูฉลามมากที่สุด ส่งผลให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในวิกฤตการณ์หูฉลามในตลาดโลกแต่ละปี มีฉลามกว่า 100 ล้านตัว ถูกฆ่าอย่างโหดร้ายเพื่อเอาครีบของมัน โดยกว่าร้อยละ 73 ถูกนำมาทำเป็น "ซุปหูฉลาม" ซึ่งประเทศไทยถูกจัดได้ว่าเป็นตลาดค้าครีบฉลามรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลกโดยเกิดจากการที่ผู้บริโภคไม่ตระหนักถึงการกระทำอันโหดร้านเบื้องหลังซุปหูฉลามแสนอร่อยเหล่านั้น ที่เหล่าฉลามต่างถูกลากขึ้นมาเพื่อเฉือนครีบของมันออกทั้งหมดก่อนจะถูกโยนทิ้งกลับลงสู่ ท้องทะเล ซึ่งทำให้ฉลามเหล่านั้นต้องจมน้ำตายทั้งเป็น เนื่องจากสูญเสียครีบอันเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต
เฉลิมฉลองเทศกาลด้วยการงดบริโภคหูฉลาม

"เนื่องในโอกาสที่ทุกๆ คนต่างก็อยากจะเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการทำสิ่งดีๆ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง เราก็อยากให้ทุกคนมองว่าการงดบริโภคหูฉลาม ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ทุกคนควรร่วมใจกันเช่นกัน" นายปีเตอร์ ไนท์ ผู้อำนวยการองค์กร ไวลด์เอด (WildAid) กล่าว "เพราะจากผลการวิจัยของเราระบุว่า คนไทยส่วนใหญ่มีความต้องการให้มีการสื่อสารเพื่อเพิ่มตระหนักถึงความโหดร้ายเบื้องหลังการบริโภคหูฉลามให้มากขึ้น รวมถึงอยากเห็นการลดลงของอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์จากหูฉลามดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งพวกเราเชื่อว่าหากการซื้อขายหูฉลามนั้นหยุดลงเมื่อใด การฆ่าก็จะหยุดลงเมื่อนั้น"

ประชากรฉลามลดลงถึงร้อยละ 98 ภายในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดย 1 ใน 3 ของชนิดพันธุ์ฉลามที่อาศัยบริเวณผิวน้ำถูกระบุว่าเป็นชนิดพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดก็หนีไม่พ้นอุปสงค์และการซื้อขายครีบฉลามดังกล่าว

จากรายงานเรื่อง "สถานการณ์ผลิตภัณฑ์จากฉลามในตลาดโลก" โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2558 ระบุว่า ประเทศไทยมีตลาดค้าครีบฉลามที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีสถิติการนำเข้าสูงถึง 136 ตัน ในระหว่างปี 2550 ถึง 2555 และยังมีบทบาทสำคัญในตลาดโลกในฐานะผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์หูฉลามแปรรูปมูลค่าต่ำรายสำคัญของโลกอีกด้วย

นอกจากนี้ การสำรวจตลาดเบื้องต้นโดยองค์กร ไวลด์เอด (WildAid) ยังพบว่า ราคาซุปหูฉลามในประเทศไทยนั้นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ส่งเสริมให้มีการบริโภคอย่างกว้างขวาง โดยมีราคาต่ำถึงชามละ 300 บาท ในร้านค้าข้างถนนย่านเยาวราช ไปจนถึงชามละ 4,000 บาท ในภัตตาคารหรูใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร

ด้วยเหตุนี้ องค์กร WildAid จึงสานต่อผลสำเร็จจากกิจกรรมรณรงค์ระดับสากลอย่าง Say No to Shark Fin ซึ่งอาศัยความร่วมมือกับทูตตัวแทนจากศิลปิน นักแสดง และผู้มีชื่อเสียง ผ่านสื่อผสมรูปแบบต่างๆ ในประเทศไทย ดังที่เคยประสบความสำเร็จในการลดปริมาณการบริโภคหูฉลามในประเทศจีนมาแล้วถึงร้อยละ 50 ถึง 70 ด้วยความร่วมมือของรัฐบาลแห่งประเทศจีนในการประกาศห้ามซื้อขายผลิตภัณฑ์จากครีบฉลามอย่างเป็นทางการครั้งที่ผ่านมา

โดยนายปีเตอร์ ไนท์ ได้กล่าวเสริมว่า "ในปี 2560 นี้ องค์กร ไวลด์เอด (WildAid) ตั้งปณิธานที่จะดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐให้มากยิ่งขึ้น สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับร้านอาหาร ภัตตาคาร และธุรกิจการโรงแรมให้ดียิ่งกว่าเดิม รวมถึงสรรหาทูตตัวแทนจากเหล่าศิลปิน นักแสดง และผู้มีชื่อเสียง เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสื่อและการรับรู้ของประชาชนให้ทั่วถึงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเราเชื่อว่าด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกคน เราจะสามารถยับยั้งความต้องการในผลิตภัณฑ์จากครีบฉลามในประเทศไทยได้ในที่สุด"