แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชน
ต่อกรณีการออกคำสั่งการขยายระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ในกิจการการกระจายเสียง
ในแถลงการณ์ ความว่า จากกระการปฏิรูปสื่อในประเทศไทยหลังเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี พ.ศ. 2535 และการเกิดขึ้นของมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จนนำมาสู่การเกิดขึ้นขององค์อิสระในการจัดสรรคลื่นความถี่ คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กสทช. ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 และแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 - 2559) โดยมีมติให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงอยู่ไม่น้อยกว่า 500 คลื่นความถี่นั้น คืนคลื่นความถี่วิทยุภายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ตามกำหนดระยะเวลาสูงสุดในแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ดังกล่าว
กระทั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 76/2559 (ลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2559) เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ข้อ 7 ให้ กสทช. หรือสำนักงาน กสทช. ดำเนินการเรียกคืนคลื่นความถี่ เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2555) เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้าปี นับแต่วันครบกำหนดแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่ประกอบกิจการกระจายเสียงตามพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และได้รับความเห็นชอบให้ถือครอง คลื่นความถี่ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ยังคงมีสิทธิในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และการถือครองคลื่นความถี่ดังกล่าวได้ตามขอบเขตและสิทธิเดิม ยังผลให้หน่วยงานรัฐ สามารถถือครองคลื่นวิทยุได้ โดยที่ไม่ต้องคืนคลื่นมาเพื่อจัดสรรใหม่ และนอกจาก กสทช. ไม่สามารถเรียกคืนคลื่นถี่มาจัดสรรใหม่ได้ตามแผนแม่บทที่วางไว้ ทางกองทัพเองยังเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากกองทัพเองเป็นหน่วยงานที่ถือครองคลื่นความถี่อยู่จำนวนไม่น้อยด้วย
ในการเสวนาสาธารณะ หัวข้อ "19 ปี ปฏิ-Loop สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ไทย...ไปต่ออย่างไร" ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันอังคารที่ 27 เดือนธันวาคม พ.ศ.2559 โดยภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการสื่อสันติภาพ สถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ และศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนาฯ ประกอบด้วยนักวิชาการ สื่อมวลชน สื่อชุมชน สื่อท้องถิ่น นักศึกษา และผู้สนใจ ล้วนมีความห่วงใยต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะวาระการปฏิรูปสื่อ ภายใต้การใช้อำนาจผ่านคำสั่ง คสช. ในลักษณะนี้ ผู้เข้าร่วมการเสวนาจึงมีฉันทามติร่วมกันว่า คำสั่ง คสช. ที่ 76/2559 ส่งผลให้การปฏิรูปสื่อในประเทศไทย "ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง" และมีข้อเรียกร้องต่อ กสทช. ดังนี้
๑. ให้เปิดเผยข้อมูลผลการสำรวจและพิเคราะห์เหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ทั้งหมด ของคณะอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต่อสาธารณะ
๒. ให้ กสทช. ชุดนี้ เร่งจัดทำ "แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่" โดยเฉพาะคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง ให้ครอบคลุมสำหรับผู้ประกอบการทุกประเภทกิจการ ให้แล้วเสร็จก่อนหมดวาระในเดือนตุลาคม 2560 โดยนำ "แนวทางการแบ่งสัดส่วนการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง" จากการดำเนินงานของ คณะทำงานพิจารณาแบ่งสัดส่วนการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ภายใต้คณะอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์มาร่วมเป็นสาระส่วนหนึ่งด้วย
๓. เมื่อหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ได้โอกาสในการถือครองคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงตามขอบเขตและสิทธิเดิมตามคำสั่ง คสช. ที่ 76/2559 ขอให้หน่วยงานดังกล่าว แจ้งผลการประกอบกิจการ ตลอดจนผลประโยชน์ที่ได้รับต่อสาธารณะทุกปีตลอด 5 ปี
๔. ขณะที่ผู้ถือใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงจำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นประจำทุกปี ขอเรียกร้องให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งดำเนินการตามขอบเขตและสิทธิเดิม จ่ายค่าธรรมเนียมให้กับรัฐตามความเหมาะสม เพื่อมิให้รัฐเสียประโยชน์จากการใช้คลื่นความถีวิทยุกระจายเสียงทางเครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามการปฏิรูปสื่อจึงมีข้อเสนอต่อ รัฐบาล และ กสทช. ดังนี้
1. ให้ทบทวนและยกเลิก ข้อ 7 ของคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 76/2559 ที่ขยายระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่วิทยุไปอีก 5 ปี เพราะมาตรการดังกล่าวไม่ได้เป็นการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะตามที่ คสช. ประกาศไว้จริง ซ้ำยังทำให้ไม่สามารถพัฒนากิจการการกระจายเสียงและจัดสรรคลื่นความถี่ได้อย่างเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit