แม้ว่าโลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายนานัปการ ตั้งแต่การขัดกันทางอาวุธไปจนถึงวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัย แต่คุณอิเคดะก็มิได้มองโลกในแง่ร้าย เพราะยังศรัทธาในเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นความหวังของโลก และสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อๆกันไปในชุมชนของตนเอง โดยกล่าวว่า "เยาวชนคนหนุ่มสาวที่ผนึกกำลังกัน คือทางออกของความท้าทายที่เรากำลังเผชิญ"
นอกจากนี้ คุณอิเคดะยังมองว่าเยาวชนเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ภายในปี 2030 ขององค์การสหประชาชาติ ทั้งยังเน้นย้ำว่าการลงมือปฏิบัติพร้อมกันทั่วโลก เช่นความพยายามล่าสุดในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้
ขณะเดียวกัน คุณอิเคดะแสดงความกังวลเกี่ยวกับวาทะที่มุ่งสร้างความแตกแยกและกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง โดยแสดงทรรศนะว่า ความรู้สึกรังเกียจคนต่างชาติต่างภาษานั้น เกิดขึ้นจากการแบ่งแยกอย่างตายตัวเกินไป พร้อมกับหยิบยกวาทะของอดีตประธานาธิบดี ริชาร์ด ฟอน ไวซ์เซคเกอร์ แห่งเยอรมนี ที่เคยให้นิยามกำแพงเบอร์ลินว่าเป็น "กำแพงหินที่เกิดจากการเมืองอันไร้ซึ่งมนุษยธรรม" และย้ำว่าเราต้องไม่ปล่อยให้การแบ่งแยกในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก
คุณอิเคดะได้กล่าวถึงความเมตตาของพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนานิกายมหายานว่า เป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนารากฐานทางจิตวิญญาณเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระโพธิสัตว์ทรงมีเมตตาให้กับทุกชีวิตที่กำลังประสบปัญหา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนและจะได้รับผลกระทบโดยตรงหรือไม่ก็ตาม
นอกจากนี้ คุณอิเคดะยังกล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาสำหรับพลเมืองทั่วโลก และเรียกร้องให้มีการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ ผ่านการสร้างมิตรภาพที่อยู่เหนือความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ โดยแสดงความเชื่อมั่นว่าสายใยของมิตรภาพในหมู่เยาวชนมีพลังมากพอที่จะทำลาย "กระแสการแบ่งแยกอันแสนโสมม" และก่อให้เกิดวัฒนธรรมแห่งสันติภาพที่ยึดมั่นในการเคารพความแตกต่าง
สำหรับปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ คุณอิเคดะได้กระตุ้นให้ผู้นำของสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ซึ่งครอบครองอาวุธนิวเคลียร์รวมกันมากกว่า 90% ของทั่วโลก จัดการประชุมร่วมกันโดยเร็วที่สุด เพื่อเดินหน้าสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก
คุณอิเคดะยังย้ำถึงความสำคัญของข้อเรียกร้องที่ให้มีการยกเลิกการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งคุณโจเซ โทดะ ประธานคนที่ 2 ของโซคา งักไก และอาจารย์ของคุณอิเคดะ ได้ประกาศไว้ในปี 1957 หรือเมื่อ 60 ปีที่แล้ว คุณโทดะพยายามเปิดเผยถึงการปราบปรามอาวุธนิวเคลียร์แบบจอมปลอม และเน้นย้ำอย่างหนักแน่นว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์ไม่มีทางเป็นสิ่งที่ชอบธรรมได้
คุณอิเคดะตอบรับมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้ว ที่สั่งการให้เริ่มมีการเจรจาสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็ตระหนักดีถึงความยากลำบากในการโน้มน้าวให้ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เข้าร่วมการเจรจา ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมและมิถุนายน 2017 โดยท่านเน้นว่าญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่เคยโดนระเบิดนิวเคลียร์ในสงคราม มีหน้าที่โน้มน้าวให้ประเทศต่างๆเข้าร่วมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
คุณอิเคดะเรียกร้องให้มีการสร้างเครื่องมือทางกฎหมายในระดับโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันมิให้ประเทศใดก็ตามต้องเผชิญกับความน่าสะพรึงกลัวของสงครามนิวเคลียร์ พร้อมกับย้ำว่าความคิดนี้สอดคล้องกับสนธิสัญญาห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty -NPT) และมาตรา 6 (Article VI) ที่ระบุให้แต่ละประเทศหาทางเจรจาเพื่อให้การปลดอาวุธนิวเคลียร์ประสบความสำเร็จ
คุณอิเคดะเน้นย้ำว่า บทบาทของภาคประชาสังคมระหว่างกระบวนการเจรจาจะช่วยสร้างแรงผลักดันไปสู่การบรรลุข้อตกลงในรูปแบบของ "กฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดจากแรงขับเคลื่อนของประชาชน"
สำหรับปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยและประเทศที่ให้แหล่งพักพิง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนานั้น คุณอิเคดะเสนอว่า องค์การสหประชาชาติควรเริ่มพัฒนาแบบแผนการให้ความช่วยเหลือใหม่ๆ ให้เกิดการประสานงานที่ดีขึ้นระหว่างงานให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินและงานพัฒนา เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านมนุษยธรรมและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การดำเนินการดังกล่าวอาจทำได้ด้วยการฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่ผู้ลี้ภัย เพื่อให้เขาเหล่านั้นทำงานในส่วนที่จะช่วยฟื้นฟูประเทศ และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศที่เป็นแหล่งพักพิง
คุณอิเคดะกล่าวสรุปข้อเสนอเพื่อสันติภาพประจำปีนี้ ด้วยการเรียกร้องให้ยกระดับความพยายามในการสร้างวัฒนธรรมแห่งสิทธิมนุษยชน โดยเสนอให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน เนื่องในวาระครบรอบ 70 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี 2018 พร้อมแสดงความคาดหวังกับนิทรรศการสิทธิมนุษยชนที่จะจัดขึ้นในระหว่างการประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมนี้ ซึ่งทางเอสจีไอเป็นผู้จัดงานร่วมกับองค์กรอื่นๆ
คุณอิเคดะเน้นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อขจัดการแบ่งแยกทุกรูปแบบ โดยกล่าวว่า ความเท่าเทียมทางเพศเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงถึงศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ในแบบที่เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง
สุดท้ายนี้ คุณอิเคดะได้ย้ำอีกครั้งถึงพันธกิจของเหล่าสมาชิกเอสจีไอ ซึ่งมีเยาวชนเป็นจุดศูนย์กลาง ในการสร้างสังคมสากลที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
ไดซาขุ อิเคดะ ได้เผยแพร่ข้อเสนอแก่ประชาคมโลกเพื่อแนะนำแนวทางในการรับมือกับความท้าทายระดับโลกทุกๆปี นับตั้งแต่ปี 1983 เป็นต้นมา ท่านเป็นทั้งนักพุทธปรัชญา นักประพันธ์ และนักสร้างสันติภาพ โดยได้ดำรงตำแหน่งประธานของสมาคมพุทธศาสนาโซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล (เอสจีไอ) มาตั้งแต่ปี 1975 ทั้งนี้ ข้อเสนอเพื่อสันติภาพประจำปีได้รับการเผยแพร่ในวันที่ 26 มกราคมของทุกปี เนื่องในวาระครบรอบการก่อตั้งเอสจีไอ รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.daisakuikeda.org
ข้อเสนอเพื่อสันติภาพฉบับเต็มจะเผยแพร่ในภาษาอังกฤษในวันที่ 16 กุมภาพันธ์
แหล่งข่าว: โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล
ติดต่อ:
โจแอน แอนเดอร์สัน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล
โทร. +81-80-5957-4711
แฟกซ์: +81-3-5360-9885
อีเมล: anderson[at]soka.jp
AsiaNet 67225
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit