ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "หลังจากโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ได้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 โดยได้คัดเลือก 99 ชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้โครงการบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และ สสส. จึงได้จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาพภาวะ ในระดับภูมิภาค ซึ่งการจัดเวทีติดตามความก้าวหน้าครั้งแรกนี้ ได้มี 35 ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบนมาเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการทำงานของแต่ละพื้นที่ พร้อมเติมองค์ความรู้ที่จำเป็นเพื่อผลลัพธ์ในการดำเนินงาน ที่จะทำให้เกิดการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริงและยั่งยืน ทั้งนี้ก็เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการฯ ได้เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับภาพรวมการดำเนินโครงการของ 35 ชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบนนั้น พบว่าการขับเคลื่อนผลักดัน โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ได้ทำให้ประชาชนตื่นตัว เกิดกระแสการกลับมาใช้จักรยานมากขึ้น เกิดกิจกรรมรณรงค์การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันขึ้นอย่างแพร่หลาย ทำให้คนในพื้นที่ซึ่งเคยใช้จักรยานอยู่แล้วในอดีต หันกลับมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดการพัฒนาแนวร่วมภาคีเครือข่าย โดยคณะทำงานในพื้นที่หาภาคีมาร่วมขับเคลื่อนโครงการให้กว้างขวางมากขึ้น ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกกลุ่มอายุ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีโรคประจำตัว และที่สำคัญทางโครงการยังได้สำรวจข้อมูลชุมชนในประเด็นต่างๆโดยเฉพาะเรื่องการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ว่ามีการใช้มากน้อยแค่ไหน เหตุผลในการใช้หรือไม่ใช้จักรยาน เพื่อนำฐานข้อมูลนี้มาใช้ในการออกแบบกิจกรรม สร้างการเรียนรู้ และการรับรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชน รวมถึงการทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ในพื้นที่ให้สอดคล้องกับวิถีปฏิบัติของคนในชุมชน และตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย"
ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนัก 6 สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. ได้กล่าวว่า "จากผลการดำเนินงานที่ต่อเนื่องมานั้น หากมองถึงปัจจัยความสำเร็จแล้วพบว่ากระบวนการทางสังคมและเครื่องมือในชุมชน คือปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ ในการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการรับรู้เรื่องชุมชนจักรยาน เห็นความสำคัญของการใช้จักรยาน จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น โดยกระบวนทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเป็นปัจจัยความสำเร็จของชุมชนจักรยานนั้น ประกอบด้วยหลายอย่าง อาทิ ความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วนในชุมชนเห็นด้วยและให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนชุมชนจักรยาน, การมีผู้นำที่เข้มแข็งเอาจริงเอาจังและเข้าใจเรื่องชุมชนจักรยานอย่างแท้จริง อาทิ เช่น นายกเทศมนตรี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือนายอำเภอ ที่ออกมานำในการขับเคลื่อนออกมาเป็นปากเป็นเสียง ให้กับคนใช้จักรยาน, คณะทำงานเข้าใจถึงเป้าหมายที่แท้จริงของชุมชนจักรยาน และมุ่งไปสู่การทำให้คนในชุมชนหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น, การสร้างนวัตกรรมทางสังคม เช่น เทศบาลเมืองแกน ใช้วิธีให้ประชาชนผ่อนจักรยานมือสองราคาถูกจากเทศบาล, การทำคลินิกซ่อมจักรยานของหลายพื้นที่ หรือการทำเส้นทางจักรยานแบบมีความคิดสร้างสรรค์ เช่น เทศบาลตำบลป่าสัก ที่คิดทำป้ายบอกจำนวนแคลอรี่ จำนวนพลังงานที่ใช้ไปเมื่อปั่นจักรยานในเส้นทาง เพื่อจูงใจให้คนรู้สึกอยากปั่นจักรยาน, การประชาสัมพันธ์สร้างกระแสให้เกิดการรับรู้ ใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มีในชุมชน เช่น เสียงตามสาย ป้าย หรือ อสม. เป็นคนนำข่าวต่างๆ เกี่ยวกับโครงการไปประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนรับรู้, การบูรณาการเรื่องจักรยานเข้าสู่ประเด็นการพัฒนาต่างๆ ที่ชุมชนได้ทำอยู่แล้ว, การขยายโครงการไปสู่ชุมชนใกล้เคียง โดยชุมชนต้นแบบสามารถเป็นแบบอย่างให้ชุมชนใกล้เคียงอยากทำตาม รวมถึงสามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้จักรยาน มีพื้นที่ปลอดภัย การจำกัดความเร็วในพื้นที่ มีจุดจอดจักรยานที่เพียงพอ สร้างการตระหนักรู้ให้กับผู้ใช้ถนนด้วยพาหนะอื่นๆ ให้ลดความเร็ว ระมัดระวัง และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในการใช้ทางร่วมกับจักรยาน ล้วนเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น
ส่วนปัญหาและอุปสรรค ของการดำเนินโครงการนั้น ก็มีเช่นกัน อาทิ การออกแบบกิจกรรมไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์, ไม่นำข้อมูลชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์, จะทำอย่างไรจึงจะสามารถเปลี่ยนจากกิจกรรมการปั่นเพื่อสร้างกระแสมาเป็นการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้ รวมถึงสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการใช้จักรยาน ผู้ร่วมท้องถนนไม่เห็นความสำคัญของการใช้รถใช้ถนนร่วมกับจักรยาน ทำให้ผู้ใช้จักรยานไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีหน่วยงาน และชุมชนในภาคเหนือหลายแห่ง ที่ได้ร่วมผลักดันโครงการนี้อย่างจริงจังจนประสบความสำเร็จ และมีตัวอย่างตามที่ได้นำเสนอมาให้ทราบกัน"
องค์การบริหารส่วนตำบลกกแรต อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ได้ทำงานเชิงรุก ปลูกจิตสำนึกใหม่ให้กับเยาวชน เกิดเป็นมติห้ามนักเรียนนำรถจักรยานยนต์มาโรงเรียนชุมชนกกแรต เป็นชุมชนที่มีชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพตำบลกกแรต ที่ทำงานรณรงค์อย่างเข้มแข็ง โดยมี นายสุวัฒน์ สังข์ทอง ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพตำบลกกแรต อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย เป็นผู้นำการขับเคลื่อนเอง จึงสามารถประสานหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาร่วมมือได้ โดยนายสุวัฒน์ได้กล่าวว่า "ชุมชนกกแรต ได้ให้ความสำคัญกับเด็กนักเรียนเป็นอับดับแรก โดยเรามีโรงเรียนในพื้นที่ 3 แห่ง คณะทำงานชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ จึงสามารถเข้าไปผลักดันจนโรงเรียนทุกแห่งออกกฎห้ามไม่ให้นักเรียนนำรถจักรยานยนต์มาโรงเรียน ซึ่งเป็นมติจากครูและผู้ปกครอง โดยให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัย เพราะมีนักเรียนเกิดอุบัติเหตุจากจักรยานยนต์จำนวนมาก ทางชมรมฯได้พยายามชี้ให้ครู ผู้ปกครอง รวมถึงเด็กนักเรียนเห็นถึงข้อเสียของการใช้จักรยานยนต์ และตระหนักถึงข้อดีของการใช้จักรยาน และการรณรงค์ขั้นต่อไปคือการเดิน หรือปั่นจักรยานมาโรงเรียนครับ"
โดยผู้สนใจจะสอบถามรายละเอียดเรื่อง โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ปี 2 หรือเรื่องชุมชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ที่โทรศัพท์ 081-6285141 และ 063-3584503 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit