ผลการวิจัยล่าสุดซึ่งเผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เผยให้เห็นว่า เด็กๆรู้สึกพึงพอใจในความสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงมากกว่าพี่น้องของตัวเอง อีกทั้งยังเข้ากับสัตว์เลี้ยงได้ดีกว่าพี่น้องของตัวเองด้วย ผลวิจัยดังกล่าวเป็นการตอกย้ำว่า สัตว์เลี้ยงในบ้านอาจมีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการของเด็ก และอาจมีผลกระทบเชิงบวกต่อทักษะทางสังคมและสุขภาวะทางอารมณ์ของเด็กด้วยเช่นกัน
(รูปภาพ: http://mma.prnewswire.com/media/458702/Mars_Petcare.jpg )
ในครอบครัวของชาวตะวันตกนั้น สัตว์เลี้ยงเป็นเหมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว แต่มีงานวิจัยเพียงน้อยนิดที่กล่าวถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับสัตว์เลี้ยง แมตต์ คาสเซลส์ หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า "ใครก็ตามที่เคยผูกพันกับสัตว์เลี้ยงในวัยเด็กจะรู้ดีว่า เราเข้าหาสัตว์เลี้ยงเพราะต้องการเพื่อนและระบายความในใจ ซึ่งไม่ต่างกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ดังนั้น เราจึงต้องการรู้ว่า ความสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงจะแนบแน่นแค่ไหนเมื่อเทียบกับความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ซึ่งท้ายที่สุดอาจทำให้เราเข้าใจว่า สัตว์เลี้ยงส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีของเด็กอย่างไร"
ข้อมูลดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Applied Developmental Psychology โดยเป็นผลมาจากการวิจัยที่จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยโภชนาการสัตว์เลี้ยงวอลแธม ในเครือมาร์ส เพ็ทแคร์ และสภาวิจัยทางเศรษฐกิจและสังคม (ESRC) ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยขนาดใหญ่ นำโดย ศาสตราจารย์ แคลร์ ฮิวจ์ส ประจำศูนย์วิจัยครอบครัวแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยทีมวิจัยได้ทำการสำรวจเด็กอายุ 12 ปี จาก 77 ครอบครัวที่มีสัตว์เลี้ยงอย่างน้อย 1 ตัว และมีเด็กมากกว่า 1 คนในบ้าน ซึ่งเด็กๆแสดงให้เห็นว่ามีความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงมากกว่าพี่น้อง นอกจากนี้ เด็กในครอบครัวที่เลี้ยงสุนัขจะมีความขัดแย้งน้อยกว่าและมีความพึงพอใจมากกว่าเมื่อเทียบกับเด็กในครอบครัวที่เลี้ยงสัตว์ประเภทอื่นๆ
คุณคาสเซลส์กล่าวเสริมว่า "แม้สัตว์เลี้ยงอาจจะไม่เข้าใจมนุษย์ทั้งหมดและไม่สามารถพูดจาโต้ตอบได้ แต่เด็กก็เปิดใจกับสัตว์เลี้ยงไม่น้อยไปกว่าพี่น้องเลย อันที่จริงแล้ว การที่สัตว์เลี้ยงไม่เข้าใจหรือพูดโต้ตอบไม่ได้กลับเป็นข้อดี เพราะทำให้สัตว์เลี้ยงปราศจากอคติต่อมนุษย์โดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ ผลการวิจัยก่อนหน้านี้มักพบว่าเด็กผู้ชายมีความสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงแนบแน่นกว่าเด็กผู้หญิง แต่ผลการวิจัยของเรากลับออกมาในทิศทางตรงกันข้าม เราพบว่าเด็กชายและเด็กหญิงพอใจในสัตว์เลี้ยงเท่าๆกัน แต่เด็กหญิงมีการเปิดใจ มีความสนิทสนม รวมถึงมีความขัดแย้งกับสัตว์เลี้ยงมากกว่าเด็กชาย ซึ่งอาจตีความได้ว่าเด็กหญิงมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงในรูปแบบที่เหมาะสมกว่าเด็กชาย"
แนนซี จี นักวิจัยจากวอลแธมและผู้ร่วมเขียนงานวิจัย กล่าวเสริมว่า "มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆว่า สัตว์เลี้ยงส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสุขภาพของมนุษย์และความสัมพันธ์ในชุมชน นอกจากนี้ การสนับสนุนทางสังคมที่เด็กๆได้รับจากสัตว์เลี้ยง อาจช่วยเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดีให้กับชีวิตในภายภาคหน้า ทว่ายังคงต้องศึกษาผลกระทบในระยะยาวของสัตว์เลี้ยงที่มีต่อพัฒนาการของเด็กต่อไป"
เกี่ยวกับสถาบันวิจัยโภชนาการสัตว์เลี้ยงวอลแธม
สถาบันวิจัยโภชนาการสัตว์เลี้ยงวอลแธม เป็นหน่วยงานวิทยาศาสตร์ที่สำคัญในเครือมาร์ส เพ็ทแคร์ ซึ่งมุ่งเน้นด้านโภชนาการและสุขภาพของสุนัข แมว ม้า นก และปลา รวมถึงคุณประโยชน์ของสัตว์เลี้ยงที่มีต่อมนุษย์ สถาบันวิจัยแห่งนี้ตั้งอยู่ในมณฑลเลสเตอร์เชียร์ ประเทศอังกฤษ และใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อันทันสมัยเพื่อตอบสนองความต้องการของสัตว์เลี้ยงอย่างแท้จริง ทางสถาบันเพิ่งฉลองครบรอบ 50 ปี แห่งการบุกเบิกนวัตกรรมสำคัญๆด้านโภชนาการสัตว์เลี้ยง รวมถึงเผยแพร่ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการพิจารณาและยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 600 ฉบับ ปัจจุบัน วอลแธมยังคงร่วมงานกับบรรดาสถาบันวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกเพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ของมาร์ส เพ็ทแคร์ ในการสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าสำหรับสัตว์เลี้ยง รวมทั้งมอบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตราสินค้าต่างๆของมาร์ส เพ็ทแคร์ อาทิ PEDIGREE(R), WHISKAS(R), ROYAL CANIN(R), BANFIELD(R) Pet Hospital, IAMS(R), CESAR(R), NUTRO(R), SHEBA(R), DREAMIES(R) และ EUKANUBA(R) http://www.waltham.com
ที่มา: มาร์ส เพ็ทแคร์
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit