รัฐมนตรีสาธารณรัฐเซเชลส์ เยี่ยมชมองค์การสวนพฤกษศาสตร์

25 Jan 2017
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 H.E.Mr. Etienne Didier Cesar Dogley รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเซเชลส์ H.E.Mr. Maurice Jean Leonard Loustau-Lalanne รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และ Mr. Raymond Antoine Brioche ผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์เซเชลส์ ให้เกียรติเข้าเยี่ยมชมงานด้านพฤกษศาสตร์และการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุ์พืช ณ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้ง หารือความร่วมมือทางวิชาการระหว่างองค์การสวนพฤกษศาสตร์และ สวนพฤกษศาสตร์เซเชลส์ โดยการสนับสนุนจาก กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ รศ.ดร.ธนิต ธงทอง กรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน รักษาการรองผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ พร้อมด้วย ผู้บริหาร นักวิชาการ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ให้การต้อนรับ
รัฐมนตรีสาธารณรัฐเซเชลส์ เยี่ยมชมองค์การสวนพฤกษศาสตร์

โอกาสนี้ H.E.Mr. Etienne Didier Cesar Dogley รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเซเชลส์ ได้มอบ มะพร้าวแฝด (Coco de Mer) พืชหายากของโลก พบเฉพาะประเทศสาธารณรัฐเซเชลส์ ให้แก่องค์การสวนพฤกษศาสตร์ เพื่อเพาะขยายพันธุ์และอนุรักษ์พืชท้องถิ่นของเซเชลส์ในประเทศไทย ภายในพื้นที่ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูต (สอท.) ณ กรุงไนโรบีได้ร่วมกับองค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.) ดำเนินงานโครงการจัดตั้ง Thai Corner ในสวนพฤกษศาสตร์เซเชลส์ เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเซเชลส์ ครบรอบ 25 ปี ในปี 2556 โดยใช้งบประมาณของ สอท. ซึ่งได้ดำเนินการจัดปรับปรุงพื้นที่ในสวนพฤกษศาสตร์เซเชลส์เพื่อจัดแสดงพันธุ์ไม้ของไทยกลุ่มกล้วยไม้และเฟิร์น พืชผักสวนครัว ไม้เขตร้อนอื่นๆ และจัดตั้งห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพร้อมทั้งมอบเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้เซเชลส์ โดยได้ดำเนินการลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสวนพฤกษศาสตร์เซเชลล์และองค์การสวนพฤกษศาสตร์เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 และมีพิธีเปิดสวน Thai Corner ณ สวนพฤกษศาสตร์เซเชลส์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยสวนพรรณไม้ไทยในสวนพฤกษศาสตร์ฯ เซเชลส์ ประกอบไปด้วยเส้นทางไม้ดอกหอม พืชสมุนไพรและเครื่องเทศ และมุมจัดแสดงกล้วยไม้ที่มีการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ว่านเพชรหึง และกล้วยไม้ลูกผสมหลากหลายสายพันธุ์ สำหรับห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture Laboratory) นั้น องค์การสวนพฤกษศาสตร์ได้ส่งทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญไปดำเนินการจัดตั้งให้ โดยใช้ครุภัณฑ์และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ผลิตในประเทศไทยทั้งสิ้น ถือเป็นห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแห่งแรกและแห่งเดียวในสาธารณรัฐเซเชลส์ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพาะขยายพันธุ์และอนุรักษ์พืชท้องถิ่นของเซเชลส์ต่อไป นอกจากนี้สวนพรรณไม้ไทยในเซเชลส์จะเป็นแหล่งที่ชาวเซเชลส์และนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มีโอกาสสัมผัสและรู้จักพรรณไม้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างใกล้ชิด สัญลักษณ์ที่ถูกนำมาใช้แสดงความร่วมมือของทั้งสองประเทศ เป็นรูปช้างไทยในมะพร้าวแฝด ที่ถูกตกแต่งด้วยไม้ประดับอย่างสวยงามอยู่บนเนิน Mont Fleuri ที่ผู้สัญจรไปมามองเห็นได้อย่างชัดเจน ชาวเซเชลส์ได้ตั้งชื่อให้กับสัญลักษณ์นี้ว่า "El-Coco" ย่อมาจาก Elephant - Coco de Mer ซึ่งจะเป็นตัวแทนของมิตรภาพอันยั่งยืนของสวนพฤกษศาสตร์ทั้งสองประเทศสืบไป