จับตาวาระ กทค. พิจารณาให้พนักงาน กสทช. ที่ดำเนินโครงการวิจัยได้รับค่าตอบแทนพิเศษ ฯลฯ

25 Jan 2017
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 3/2560 วันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2560 มีวาระที่น่าจับตาหลายเรื่อง ได้แก่ การพิจารณาเรื่องให้พนักงาน กสทช. ที่ดำเนินโครงการวิจัยได้รับค่าตอบแทนพิเศษ เรื่องคำขอรับใบอนุญาตและต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมภาคพื้นดิน และการพิจารณาแก้ไขเรื่องร้องเรียนกรณีประสบปัญหาจากการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

วาระพิจารณาให้พนักงาน กสทช. ที่ดำเนินโครงการวิจัยได้รับค่าตอบแทนพิเศษ

วาระนี้สืบเนื่องจากสำนักงาน กสทช. จัดสรรงบประมาณเพื่อจ้างที่ปรึกษาดำเนินงานโครงการศึกษาแนวทางการกำหนดเพดานการถือครองคลื่น (Spectrum Caps) ในปี 2559 วงเงิน 10 ล้านบาท แต่ไม่สามารถดำเนินโครงการได้เนื่องจากผู้ยื่นข้อเสนอดำเนินการมีจำนวนน้อยรายและรายที่ยื่นข้อเสนอก็ขาดคุณสมบัติ ดังนั้น สำนักงาน กสทช. จึงประสงค์ดำเนินการโครงการศึกษาวิจัยดังกล่าวเอง โดยได้มีการยกร่างประกาศ กสทช. เรื่องค่าตอบแทนคณะศึกษาวิจัยโครงการศึกษาแนวทางการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ขึ้น เพื่อกำหนดอัตราค่าตอบแทนพิเศษให้กับพนักงานที่ดำเนินโครงการ และได้นำเสนอให้ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้ กทค. เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้แทน

สำหรับเหตุผลของกำหนดค่าตอบแทนพิเศษให้กับพนักงานนั้น สำนักงาน กสทช. อ้างว่า เพราะพนักงานที่ดำเนินการต้องใช้ความทุ่มเทและเสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อดำเนินงานมิให้กระทบต่อหน้าที่การปฏิบัติงานตามปกติ รวมทั้งต้องมีค่าใช้จ่ายในการรวบรวมข้อมูลและการปฏิบัติการศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ จึงมีความจำเป็นในการให้พนักงานดังกล่าวได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นกรณีพิเศษ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดการใช้จ่ายงบประมาณในการจ้างที่ปรึกษาและให้เกิดความคุ้มค่าในการปฏิบัติอีกด้วยทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินการโครงการศึกษาแนวทางการกำหนดเพดานการถือครองคลื่น สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอให้ กทค. เห็นชอบในหลักการให้พนักงานของสำนักงาน กสทช. ได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นกรณีพิเศษ ประกอบด้วย ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับหัวหน้าโครงการ ผู้วิจัย และผู้ช่วยวิจัย ประมาณ 460,000 บาท ค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติและชาวไทย ประมาณ 925,000 บาท ค่าจัดการประชุมประมาณ 142,500 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ประมาณ 263,000 บาท

อย่างไรก็ดี ในวาระนี้หากพิจารณาในแง่การส่งเสริมให้พนักงาน กสทช. พัฒนาความรู้ความสามารถ ประกอบกับเรื่องการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่นั้นมีความจำเป็นเร่งด่วน การดำเนินการศึกษาเรื่องดังกล่าวโดยใช้บุคลากรภายในก็ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสม แต่ในแง่ประเด็นการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษให้กับพนักงานของสำนักงาน กสทช. ที่ดำเนินโครงการดังกล่าวนั้น อันที่จริงมีทางเลือกได้หลากหลายเพื่อไม่ให้เสี่ยงถูกตำหนิจากสังคมได้ว่าเป็นการ "อัฐยายซื้อขนมยาย" หรือเบียดบังเวลางานปกติมาดำเนินโครงการเพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนพิเศษ เช่น การจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลา (OT) การจ่ายโบนัส หรือการพิจารณาปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เป็นต้น ซึ่งหลักเกณฑ์เหล่านี้มีหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่ชัดเจนอยู่แล้ว ขณะเดียวกันในเรื่องของงบประมาณโครงการเอง ก็ยังมีประเด็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัยด้วยว่าแท้จริงแล้วโครงการที่เสนอมานี้เป็นโครงการศึกษาวิจัยของพนักงาน กสทช. หรือไม่ อย่างไร เพราะโครงการดังกล่าวมีการกำหนดงบประมาณรายจ่ายสำหรับผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติและชาวไทยไว้สูงกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด อีกทั้งยังไม่ได้ระบุรายละเอียดหรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้าร่วมโครงการไว้แต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสังเกตอีกว่า หากสำนักงาน กสทช. ต้องการจัดทำหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานสำหรับการศึกษาวิจัย เหตุใดไม่กำหนดหลักเกณฑ์ในรูปของระเบียบ กสทช. เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้เฉพาะกับพนักงานของสำนักงาน กสทช. แต่กลับกำหนดในรูปของประกาศ กสทช. ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ที่สำคัญหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็ควรมีการกำหนดให้ชัดเจนด้วยว่าโครงการศึกษาใดที่สำนักงาน กสทช. สามารถดำเนินการได้เองหรือโครงการใดจำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษาจากภายนอกเป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งควรมอบหมายให้อนุกรรมการพิจารณางบประมาณและคณะอนุกรรมการบริหารงานบุคคลร่วมพิจารณากรณีการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษด้วย เพื่อป้องกันข้อครหาที่อาจเกิดขึ้นตาม

วาระพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตและต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมภาคพื้นดิน

วาระนี้เป็นเรื่องการพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อบริการให้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียม การให้บริการรับ-ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมจากสถานีแม่ข่าย (Satellite Uplink/Downlink Service) และบริการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ใช้จานสายอากาศขนาดเล็ก (Very Small Aperture Terminal Service) ที่มีสถานีแม่ข่ายเป็นของตนเอง และพิจารณาคำขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อบริการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ใช้จานสายอากาศขนาดเล็ก (Very Small Aperture Terminal Service) ให้กับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมอีกรายหนึ่ง

สำหรับวาระนี้มีประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อครั้งที่ กทค. เคยออกใบอนุญาตดาวเทียมไทยคมไปโดยไม่ต้องประมูลคลื่นความถี่นั้น กทค. ได้เคยชี้แจงต่อสังคมว่า ผู้ประกอบกิจการที่ภาคพื้นดิน ซึ่งก็คือผู้ประกอบกิจการสถานีให้บริการ Up Link Down Link รวมทั้งบริการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ใช้จานสายอากาศขนาดเล็กนั้น เป็นผู้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากเป็นผู้ใช้ความถี่ในการรับส่งสัญญาณภายใต้ราชอาณาจักรไทย ดังนั้นจึงมีประเด็นว่า ในการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการในกรณีเช่นนี้ จำเป็นต้องจัดสรรด้วยวิธีการประมูลเท่านั้นด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ขาดความชัดเจนมาโดยตลอด

วาระพิจารณาแก้ไขเรื่องร้องเรียนกรณีประสบปัญหาจากการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

วาระนี้สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอ กทค. พิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงินของ บจ. ดีแทค ไตรเน็ต แจ้งว่า ได้รับข้อความสั้นเชิญชวนว่า "ซื้อเลยวันนี้! โปรเน็ตใช้งานต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ใช้ความเร็ว 3G ได้ 100MB เพียง 12 บาทต่อวัน" จึงสมัครใช้บริการดังกล่าว เวลา 19.32 น. แต่สามารถใช้งานได้ถึงเวลา 24.00 น. เท่านั้น เมื่อสอบถามไปยัง Call Center ของบริษัทฯ ก็ได้รับการชี้แจงว่า โปรโมชั่นดังกล่าวจะสามารถใช้บริการได้ถึงเที่ยงคืนของวันที่สมัครใช้บริการไม่ว่าจะสมัครช่วงเวลาใดก็ตาม ซึ่งผู้บริโภครายนี้เห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะบริการที่ได้รับไม่ตรงกับข้อความสั้นที่บริษัทเชิญชวนให้ลูกค้าสมัครใช้บริการ จึงร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช.

ในกรณีนี้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมพิจารณาแล้ว มีมติให้บริษัทฯ ต้องแก้ไขโฆษณาและแจ้งระยะเวลาเริ่มต้นการใช้บริการและสิ้นสุดการใช้บริการให้ผู้ใช้บริการรับทราบอย่างชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาก็เกิดปัญหาร้องเรียนเช่นนี้มาแล้วหลาย รวมทั้งเห็นว่าการโฆษณาลักษณะดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภคว่าสามารถใช้บริการต่อเนื่องได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งเข้าข่ายกระทำผิดตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมโดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. 2558 ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่ กทค. ต้องพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย