องค์กร PROTECTION international ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถานทูตแคนาดาโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม)และภาคีเครือข่าย จัดงานนิทรรศการแสดงภาพถ่าย“แด่นักสู้ผู้จากไป”

03 Feb 2017
องค์กร PROTECTION international ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถานทูตแคนาดาโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม)และภาคีเครือข่าย จัดงานนิทรรศการแสดงภาพถ่าย"แด่นักสู้ผู้จากไป" ระบุ 20 ปีที่ผ่านมามีนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับให้สูญหายและตายไปแล้วกว่า 59 คน พร้อมเปิดตัวคู่มือการปกป้องและความปลอดภัยสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชน และยื่น 7 ข้อเสนอต่อรัฐ อาทิให้หยุดการข่มขู่ จับกุม ฟ้องร้อง คุกคามประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชน และกำหนดให้การทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญเป็นความผิดทางอาญา
องค์กร PROTECTION international ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถานทูตแคนาดาโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม)และภาคีเครือข่าย จัดงานนิทรรศการแสดงภาพถ่าย“แด่นักสู้ผู้จากไป”

ที่ห้องโถงหน้าหอสมุดชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์กร PROTECTION International ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถานทูตแคนาดา โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) และภาคีเครือข่าย จัดงานเปิดตัวนิทรรศการภาพถ่ายอุทิศให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชื่อ"แด่นักสู้ผู้จากไป" For Those Who Died Trying โดยภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก อาทิการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายและบอกเล่าเรื่องราวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและบังคับสูญหายในประเทศไทยจำนวน 37คน การฉายสารคดีสั้นเรื่อง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนไทย Short documentary "For Those Who Died Trying" โดย คุณLuke Duggleby การบรรเลงบทเพลงเพื่อนักปกป้องสิทธิ Musical DNA live performances จากวง The 90s string quartet โดยบทเพลงที่บรรเลงนั้นถูกแต่งขึ้นโดย Frank Horvat นักประพันธ์เพลงรุ่นใหม่ของแคนาดา โดยการแกะโน้ตดนตรีจากชื่อภาษาอังกฤษของนักสิทธิมนุษยชน 4 ท่านที่ถูกสังหารและถูกบังคับให้สูญหาย และการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ของการถูกบังคับให้สูญหายและตายของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย

น.ส.ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร PROTECTION international กล่าวว่า การจัดงานของของเราในครั้งนี้ก็เพื่ออุทิศให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนที่ถูกสังหารและบังคับให้สูญหาย โดยหลายปีที่ผ่านมานักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพในการเป็นเจ้าของในที่ดินทำกินของตนเอง ในการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง การจัดการทรัพยากรที่เหมาะสมในชุมชนของตนหรือต่อสู้เพื่อต่อต้านการทุจริตในโครงการของรัฐเองถูกข่มขู่ คุกคาม บังคับให้สูญหายและตายไปเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้จากการเก็บข้อมูลขององค์กรเราพบว่าในช่วงระยะเวลา20ปีที่ผ่านมามีนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเรียกร้องการเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพในกระบวนการขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนและสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมถูกบังคับให้สูญหายและตายไปกว่า 59 คน และเมื่อรวบรวมย้อนหลังไปอีก 35 ปียิ่งพบตัวเลขที่น่าตกใจว่าประเทศไทยมีการบังคับสูญหายอีกกว่า 90 กรณี โดยกว่า 81 กรณี ยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงกรณีของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 และกรณีของนายเด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ที่ได้ต่อสู้ในประเด็นที่โฉนดชุมชนที่ดินทำกินซึ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 หลังเดินทางเข้าป่าเพื่อเก็บหน่อไม้ เรายังพบข้อมูลที่น่าสนใจจากการเก็บสถิติอีกว่าภาคอีสานและภาคใต้มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและบังคับให้สูญหายมากที่สุดเท่าที่เราทราบตอนนี้

ตัวแทนจากองค์กร PROTECTION international กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันชื่อของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและบังคับให้สูญหายเริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลารวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องมาดูแลและปกป้องนักสิทธิมนุษยชนก็ยังลางเลือนและไม่มีความขัดเจนด้วย การจัดงานแสดงนิทรรศการภาพถ่าย"แด่นักสู้ผู้จากไป" For Those Who Died Trying ในครั้งนี้จึงถือเป็นการรำลึกถึงความยากลำบากในการต่อสู้และความอยุติธรรมที่นักต่อสู้เหล่านี้ต้องพบเจอด้วย ซึ่งภาพถ่ายแต่ละภาพนั้นคุณ Luke Duggleby ช่างภาพชื่อดังระดับโลกเจ้าของนิทรรศการภาพถ่ายชุดนี้ ได้ลงไปถ่ายแต่ละรูปในสถานที่จริงที่นักต่อสู้ถูกสังหารและบังคับให้สูญหาย ซึ่งเป็นแก่นแท้ของโครงการภาพถ่ายครั้งนี้ ทั้งนี้นักต่อสู้ถูกสังหารและบังคับให้สูญหายนั้นมีจำนวนที่มากแต่มีเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้นที่มีการสอบสวนและคดีขึ้นสู่ชั้นศาล สิ่งที่เกิดขึ้นจังทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐและกระบวนการยุติธรรมในบ้านเรานั้นล้มเหลว เพราะมีหลายคดีที่ผู้กระทำความผิดยังลอยนวลจนทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (aculture of impunity) หรือการที่ผู้กระทำผิดละเมิดสิทธิของผู้อื่นแล้วไม่ต้องรับผิด (accountability) ซึ่งปัญหานี้ที่ฝังรากลึกอยู่กับสังคมและการเมืองไทยมายาวนานและหากวัฒนธรรมนี้ยังคงอยู่ก็จะสร้างสภาวะที่อันตรายอย่างถาวรต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย และที่สำคัญมันจะส่งผลที่ร้ายแรงต่อสังคมโดยรวมเพราะผู้มีอำนาจเชื่อว่าเครือข่ายอำนาจอุปถัมภ์จะสามารถทำให้พวกเขาลอยนวลพ้นผิดได้อย่างง่ายดาย การตัดสินใจใช้ความรุนแรงจึงไม่ใช่เรื่องต้องคิดมาก วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดจึงเป็นภาวะอัปลักษณ์ของสังคมไทยที่เราต้องช่วยกันแก้ เริ่มจาการปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ แก้ไขความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและความยุติธรรม

น.ส.ปรานมยังกล่าวเพิ่มเติมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเอาผิดบุคคลที่บังคับให้ผู้อื่นสูญหายว่า นอกจากนี้แล้วประเทศไทยยังขาดกรอบกฎหมายเพื่อการรับผิดในคดีการบังคับให้สูญหาย เพราะข้อจำกัดทางกฎหมายของประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญารวมถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริงยังขาดความเป็นอิสระ หรืออาจไม่ใส่ใจที่จะสืบสวนสอบสวนโดยทันที ดังนั้นรัฐบาลควรกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาและ กำหนดกลไกสืบสวนสอบสวนที่ เหมาะสม และประกันสิทธิอย่างเต็มที่ของผู้เสียหายและญาติ นอกจากนี้แล้วควรมีการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่เกี่ยวกับการคุ้มครองพยาน การควบคุมตัว ข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและการทำลายพยานหลักฐาน และควรมีการปรับปรุงขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนและการฟ้องคดี รวมทั้งขั้นตอนการแจ้งความ การสืบสวน สอบสวนในเบื้องต้นและการส่งต่อคดีอย่างรวดเร็วให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมถึงควรกำหนดให้มีการคุ้มครองพยาน และการเคารพสิทธิของญาติด้วยด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยว่า การอุ้มหายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแม้ในหลายปีที่ผ่านมายอมรับว่ามีจำนวนน้อยลง โดยในปีที่ผ่านมามีเพียงกรณี นายเด่น คำแหล้ แกนนำชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ที่ต่อสู้เรียกร้องเรื่องที่ดินทำกินเท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้าม การฟ้องร้องเรื่องคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลับมีมากขึ้น ซึ่งการฟ้องร้องคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีจำนวนมากขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิง ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ อาทิ เรื่องที่ทำกิน สิ่งแวดล้อม หนำซ้ำยังพบว่ามีการถูกคุกคามทางเพศร่วมด้วย โดยเฉพาะการข่มขู่ว่า ระวังจะโดนข่มขืน เป็นต้น ถือเป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้นักต่อสู้หญิงเกิดความหวาดกลัว บางคนถึงขั้นไม่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้ และนอกจากนี้แล้วการฟ้องร้องยังลุกลามไปถึงกลุ่มเยาวชนที่จะหยุดหรือห้ามในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเมื่อมีการฟ้องร้องแล้ว ส่วนใหญ่มักเป็นผู้แพ้คดี

นางอังคณา กล่าวต่อว่า กรณีคุณสมชาย นีละไพจิตร นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของการถูกบังคับให้สูญหาย ที่ท้ายสุดไม่สามารถนำตัวคนกระทำผิดมารับโทษได้ โดยในครั้งแรกเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเหมือนจะมีความจริงจัง คดีถึงชั้นศาล สุดท้ายหลักฐานไม่เพียงพอ โดยให้เหตุผลว่า ไม่พบศพจึงไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการตัดตอนพยานกรณีที่เห็นชัดที่สุดคือคดีของคุณเจริญ วัดอักษร ที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มือปืนอยู่ดีๆ ก็เสียชีวิต ทำให้ขาดพยานหลักฐาน สุดท้ายก็ไม่สามารถนำตัวคนกระทำผิดมาลงโทษได้เช่นกัน

"สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า กฏหมายบ้านเรา มีช่องโหว่ที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ให้เทียบเท่ากับความเป็นสากล ที่อย่างน้อยญาติผู้ตายต้องได้รับรู้ความจริง ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ... ที่นำเข้าสู่สภา เพื่อมาปกป้องในเรื่องนี้ ในส่วนของเนื้อหา ก็ยังไม่สอดคล้องกับหลักสากล โดยเฉพาะตัวคณะกรรมการพิจารณาการออกกฏหมายส่วนใหญ่มักเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีความหลากหลาย แทนที่จะนำผู้สูญเสีย ผู้มีประสบการณ์ตรงเข้าไปร่วมพิจารณาด้วย จึงจะทำให้กฏหมายทำการป้องป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้มากขึ้น"นางอังคณากล่าวนางอังคณา ยังกล่าวถึง การเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุการณ์ความสุญเสีย ต้องยอมรับว่า การเยียวของเรายังไม่เป็นสากล มีแค่เพียงการเยียวยาผ่านตัวเงิน และการให้ความช่วยเหลือด้านทนายความเท่านั้น ทั้งที่ความเป็นจริง ญาติผู้สูญเสียต้องได้รับความจริงด้วย โดยเฉพาะผู้ก่อเหตุเป็นใคร และผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำขึ้น และเรื่องการอุ้มหายเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก แต่ที่ผ่านมากลับไม่ใช่ ส่วนใหญ่เมื่อคดีเกิด มักลงท้ายด้วยหาผู้กระทำผิดไม่ได้

ด้านนางณัฎฐกานต์ เนาวโอภาส ภรรยาผู้ใหญ่ประจบ เนาวโอภาส แกนนำชาวบ้านที่ถูกลอบสังหารจากการออกมาต่อต้านการลักลอบทิ้งกากสารเคมีอุตสาหกรรมและขยะมีพิษ ในเขตพื้นที่ ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ได้ร่วมสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมให้ฟังว่า ในส่วนของดีที่ล่าสุด ศาลได้ยกฟ้องผู้ถูกกล่าวหา โดยให้เหตุผลว่า การพูดคุยทางโทรศัพท์ เกี่ยวกับการจ้างวานไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานได้ ถามว่า ใครเป็นผู้กระทำผิด ตรงนี้เรารู้อยู่ในใจตั้งแต่วินาทีแรกที่สามีถูกลอบสังหารแล้ว และตั้งแต่สามีเสียชีวิตการใช้ชีวิตในปัจจุบันมีความยากลำบากเป็นอย่างมาก จากเดิมที่มีเสาหลักของครัว ตอนนี้ตนต้องรับภาระเลี้ยงดูครอบครัวเพียงคนเดียว ทุกวันนี้ต้องทยอยขายรถเพื่อจ่ายค่าเทอมลูกแล้ว ขณะที่การเยียวยาได้เงินเพียง 1 แสนบาท จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเท่านั้น

"ในเรื่องของตัวเงินดิฉันไม่ได้ซีเรียสว่าจะได้เท่านั้นต้องเท่านี้ แต่น้อยใจตรงที่สังคม ไม่มองถึง ความสำคัญเกี่ยวกับการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาถึงสิทธิ ทั้งที่ตัวสามีต่อสู้เพื่อทุกคน แต่สังคมกลับมองข้าม ทุกวันนี้มีความคิดในทำนองว่า เงิน สามารถซื้อได้ทุกอย่างจริงๆ ตามคำที่ว่า คนรวยนอนฟูก คนจนนอนคุก ถามว่าต่อจากนี้จะมีคนดีลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิบ้าง"นางณัฎฐกานต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าองค์กร PROTECTION international ยังได้เปิดตัวหนังสือคู่มือการปกป้องและความปลอดภัยสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชน ซึ่งรายละเอียดในคู่มือจะว่าด้วยข้อแนะนำให้นักต่อสู้สิทธิมนุษยชนรู้จักวิเคราะห์ความเสี่ยง และรู้จักวิธีในการสังเกตความไม่ปลอดภัยในการทำงาน และในคู่มือยังระบุถึงแนวทางในการดูแลปกป้องตนเองเมื่อถูกข่มขู่คุกคาม และแนะนำถึงแนวทางในการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยดูแลปกป้องคุ้มครองนักต่อสู้ด้วย นอกจากนี้แล้วในช่วงท้ายของงานภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันอ่านข้อเรียกร้องถึงรัฐต่อแนวทางในการป้องกันไม่ให้นักต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนถูกบังคับให้สูญหายและถูกสังหารจำนวน 7 ข้อดังนี้ 1.·รัฐไทยและคนในสังคมไทยควรต่อสู้กับการลอยนวลพ้นผิด ในกรณีการละเมิดนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะระดับชุมชน โดยสร้างความเชื่อมั่นว่าจะดำเนินการตรวจสอบอย่างรวดเร็วและเที่ยงธรรม ผู้กระทำผิดจะต้องรับผิด และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะได้รับความยุติธรรมโดยทันทีและมีการเยียวยาที่เหมาะสม 2.รัฐต้องมีการสอบสวนและประกันให้เกิดความยุติธรรมต่อกรณีการข่มขู่ คุกคามและทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน3. ·รัฐบาลไทยต้องหยุดการข่มขู่ จับกุม ฟ้องร้อง คุกคามประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการเข้าถึงมี่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ 4.รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติการอย่างทันทีในการสนับสนุนบทบาทและความชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดการบรรลุสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งสามารถหนุนให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐในการส่งเสริม ตรวจสอบและการปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่สำคัญคือป้องกันมิให้รัฐและหรือเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเอง 5. กำหนดให้การทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญเป็นความผิดทางอาญา ฐานความผิดดังกล่าวต้องสอดคล้องกับนิยามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญ และต้องได้รับการสืบสวนสอบสวนโดยทันที เป็นกลางและมีประสิทธิภาพโดยต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แม้ไม่พบตัวหรือไม่พบชิ้นส่วนศพก็ตาม และต้องตระหนักว่าสิทธิในการรับทราบความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ 6. ในทุกรณีของการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องกำหนดแนวทางการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพและชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่คุ้มครองพยานต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกันหรือใกล้ชิดกับหน่วยงานที่ถูกกล่าวหาว่าทำการทรมานหรือบังคับให้หายสาบสูญ เพื่อให้ความมั่นใจว่าผู้กระทำผิดจะไม่มีอิทธิพลต่อกลไกการคุ้มครองพยาน 7.กำหนดให้องค์ประกอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะกรรมการที่เข้ามาทำหน้าที่ในการป้องกันการสังหารและการทรมานและบังคับบุคคลสูญหาย ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระเพื่อไม่ให้คณะกรรมการถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพลและควรกำหนดให้มีสัดส่วนของภาคประชาสังคมในจำนวนที่สมดุลกับกรรมการโดตำแหน่งที่มาจากภาครัฐ อีกทั้งต้องพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้เสียหายและญาติผู้เสียหายด้วยทั้งนี้นิทรรศการแสดงภาพถ่าย"แด่นักสู้ผู้จากไปจะจัดแสดงอีกครั้งทั่วประเทศไทย โดยในวันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้จะจัดแสดงที่จังหวัดเชียงใหม่โดยร่วมกับคณะจัดงาน Chiang mai Photo Festival 2017 สาขาวิชาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งจะมีพิธีเปิด ในวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 16.00-17.30 น. ณ ลาน think park ถนน นิมมานเหมินท์ วันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ 2560 จัดที่จังหวัดสงขลา โดยร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดงานวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00น และวันที่ 21-17 กุมภาพันธ์ 2560 จัดที่จังหวัดมหาสารคามโดยร่วมกับคณะ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

HTML::image( HTML::image( HTML::image(