EXIM BANK ได้กำหนด 6 ยุทธศาสตร์หลัก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวตามแผนแม่บท ดังนี้ 1. การส่งเสริมการค้าและการลงทุนด้วยการสร้างความต้องการสินค้าและบริการของไทยในประเทศตลาดหลักและประเทศตลาดใหม่ มุ่งเน้นการสร้างโอกาสการค้าและการลงทุนของไทยในตลาดใหม่ (New Frontier Markets) ซึ่งรวมถึงการบุกเบิกโอกาสการค้าการลงทุนของไทยในตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่มีความต้องการสินค้าและบริการของไทยจำนวนมาก 2. การเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการลงทุนของรัฐและเอกชนไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 3. การขยายตลาดรับประกันการส่งออกและลงทุน ด้วยนวัตกรรมบริการประกันและการรับประกันต่อ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตร เพื่อสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนของไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก 4. การส่งเสริมการค้าและการทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs เข้าสู่โลกการค้าดิจิทัลได้อย่างประสบความสำเร็จและแข่งขันได้ 5. การสนับสนุนด้านความรู้และการเงินให้ SMEs ที่มีศักยภาพ นำไปพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและการบริการ เพื่อต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยและแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง 6. การเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการดำเนินงาน โดยยึดหลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่ทำงานอย่างแข็งขันร่วมกับภาครัฐเป็นไทยแลนด์ทีม
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า แผนแม่บท 10 ปีเป็นผลจากการทำงานของ EXIM BANK ร่วมกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อหาจุดยืนที่เหมาะสม โดยใช้จุดแข็งของ EXIM BANK เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยอย่างยั่งยืนในระยะยาว จากปัจจุบัน EXIM BANK เป็น SFI ที่มีส่วนสนับสนุนรายได้มวลรวมประชาชาติ (Gross National Income : GNI) ของไทยประมาณ 1.0% จะเพิ่มขึ้น 1.5% ในอีก 10 ปีข้างหน้า เป็น 2.5% ของ GNI ช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกและการเติบโตของภาคการส่งออกของไทยได้เพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ ตลอดจนการส่งเสริมการจ้างงาน การเสริมสร้างองค์ความรู้ทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการไทย ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของผู้ประกอบการไทย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า ในปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของการปรับบทบาทองค์กรครั้งใหญ่ EXIM BANK จะดำเนินการผลักดันให้เกิดโครงการต้นแบบของการพัฒนารูปแบบการให้บริการประกันการส่งออกผ่านช่องทางใหม่ๆ อาทิ การให้บริการทางออนไลน์ เนื่องจาก EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินของไทยรายแรกและรายเดียวที่ให้บริการนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีเครื่องมือลดความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าส่งออก อันมีสาเหตุมาจากความเสี่ยงทางการค้าและการเมือง ควบคู่กับการส่งเสริมการค้าและการทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ในการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดค้าปลีกและค้าส่งทั่วโลก
นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน ด้วยโมเดลการค้าการลงทุนที่เปลี่ยนไป การส่งออกมิใช่ฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดและก้าวข้ามมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีศุลกากร ในปี 2560 EXIM BANK จะเร่งส่งเสริมการลงทุนของไทยในต่างประเทศ โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนข้อมูลในเชิงลึกและเงินทุนสำหรับโครงการลงทุนให้แก่นักลงทุนไทยที่พร้อมและมีศักยภาพจะขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ทั้งการสร้างโรงงานผลิตและการประกอบกิจการการค้าในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะใน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่ง EXIM BANK กำลังทยอยเข้าไปเปิดสำนักงานตัวแทน เพื่อทำงานร่วมกับไทยแลนด์ทีมในการสนับสนุนการขยายการค้าการลงทุนของไทยในตลาดดังกล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ในปี 2559 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 1,304 ล้านบาท ช่วยให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs แข่งขันได้มากขึ้น ทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 มีเงินให้สินเชื่อคงค้างจำนวน 83,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2558 จำนวน 9,630 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อใหม่ที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในระหว่างปีจำนวน 25,327 ล้านบาท และมีการชำระคืนของสินเชื่อเดิมบางส่วน ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 133,993 ล้านบาท โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 86,497 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้างแก่ SMEs จำนวน 35,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,848 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.04 เมื่อเทียบกับปีก่อน
ด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุน ในปี 2559 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจส่งออกและลงทุนรวมด้านรับประกัน เท่ากับ 56,486 ล้านบาท โดย 11,255 ล้านบาท เป็นธุรกิจส่งออกของ SMEs หรือร้อยละ 19.92 ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม ส่วนด้านการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังตลาดใหม่ ปัจจุบัน EXIM BANK มีวงเงินให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 56,382 ล้านบาท
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 อยู่ที่ร้อยละ 3.57 โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ จำนวน 2,970 ล้านบาท ลดลง 1,023 ล้านบาทจากปีก่อน และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 6,842 ล้านบาท โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 2,675 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกันร้อยละ 255.81 ทำให้ธนาคารยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง
"EXIM BANK วันนี้กำลังปรับบทบาทใหม่ไปสู่การทำหน้าที่บนจุดแข็งของธนาคาร ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมี SFI อย่าง EXIM BANK เป็นที่ปรึกษาและเครื่องมือทางการเงินในการประกอบธุรกิจการค้าและการลงทุนในโลกยุคใหม่ได้อย่างประสบความสำเร็จ แข่งขันได้ และช่วยลดความเสี่ยงจากผลกระทบของความไม่แน่นอนของการเมืองและเศรษฐกิจโลก" นายพิศิษฐ์ กล่าว