กังหันน้ำของพ่อ

01 Feb 2017
ในเช้าวันที่อากาศสดใสต้นฤดูหนาว เรามุ่งหน้าสู่บริเวณรั้วโรงเรียนสีเขียวของร.ร.อนุบาลกุ๊กไก่ซึ่งตั้งอยู่ริมถ.พระราม4 และเดินตามเสียงดนตรีที่เปิดคลอเบาๆ จนมาหยุดอยู่ที่หน้าห้องอนุบาล 3/2 ที่มีกังหันน้ำขนาดจำลองตั้งโดดเด่นอยู่ เรามีนัดกับเด็กๆ เพื่อเข้าไปชมนิทรรศการ การเรียนรู้แบบ Project Approach เรื่อง "กังหันน้ำชัยพัฒนา" แบบเจาะลึกกันค่ะ
กังหันน้ำของพ่อ

ในการเรียนรู้แบบโครงงาน Project Approach เรื่อง "กังหันน้ำชัยพัฒนา" นักเรียนห้องนี้ใช้เวลาในการเรียนรู้กว่า 7 สัปดาห์ โดยเริ่มต้นจากการที่เด็กๆ ช่วยกันทำกราฟหัวข้อเรื่องที่จะเรียนรู้ แล้วเขียนชื่อตัวเองในกระดาษไปติดลงในกราฟตามชื่อเรื่องที่ตนสนใจ และสรุปได้ว่า"กังหันน้ำชัยพัฒนา" เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจโหวตมากที่สุด โดยน้องกันต์ ด.ช.กันตภณ จันทร์สาส์น ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์เดิมเกี่ยวกับกังหันน้ำชัยพัฒนาให้เราฟังว่า "ตอนอยู่อนุบาล 2 คุณครูเคยสอนผมเรื่องกังหันน้ำชัยพัฒนานี้ครับว่าสามารถทำให้น้ำที่สกปรกกลายเป็นน้ำสะอาดได้ โดยในหลวงเป็นคนคิดค้นสร้างกังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นคนแรก เพราะในหลวงท่านเป็นห่วงประชาชนของพระองค์ครับ"

โดยช่วงสัปดาห์แรกๆของการเรียนรู้ เด็กๆได้แบ่งกลุ่มกันสืบค้นหาความหมายของสิ่งที่ตนอยากรู้จากแหล่งต่างๆอาทิ หนังสือ คอมพิวเตอร์ Google และ Youtube เพื่อเป็นการฝึกทักษะทางเทคโนโลยีและทักษะทางภาษาไทยในการสระกดประสมคำ อีกทั้งคุณครูยังนำแผ่นพับมาให้เป็นแหล่งข้อมูลในห้องร่วมกับการดูสารคดีเทิดพระเกียรติที่มาของกังหันน้ำชัยพัฒนา ที่เรียกว่า "หลุก" หรือ "ระหัดวิดน้ำ"ของไทยสมัยโบราณ ซึ่งน้องกันต์ อธิบายให้คุณพ่อคุณแม่และเราฟังต่อว่า "ในหลวงทรงคิดค้นการบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ เอาผักตบชวามาช่วยในการบำบัดน้ำเน่าเสีย แต่ช่วยได้นิดหน่อย ในหลวงทรงเป็นห่วงประชาชนกลัวจะเป็นโรค เพราะว่าประชาชนในชุมชนทิ้งขยะลงไปในบึง ทำให้น้ำเน่า มีกลิ่นเหม็น ในหลวงจึงคิดวิธีแบบใหม่มาแทนผักตบชวา เป็นเครื่องกลเติมอากาศโดยเห็นจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน ที่ใช้ระหัดวิดน้ำในการวิดน้ำเข้านา มาปรับปรุงเป็นเครื่องกลเติมอากาศ และทรงมอบหมายงานให้กับมูลนิธิชัยพัฒนากับกรมชลประทานเป็นคนประดิษฐ์กังหันน้ำชัยพัฒนาขึ้นมา" พอสิ้นเสียงหนูน้อยช่างพูดเหล่าคุณครูและผู้ปกครองที่ยืนฟังอยู่ต่างพากันปรบมือให้กับความฉลาดพูดของหนูน้อยกันรัวๆเลยค่า

สัปดาห์ต่อมาคุณครูช่วยเด็กๆวางแผนไปทัศนศึกษาในสถานที่ที่เด็กๆสามารถสำรวจและสืบค้นได้ โดยงานนี้ทุกคนจะได้ไปทัศนศึกษากังหันน้ำชัยพัฒนาของจริงที่สำนักงานกรมชลประทาน นนทบุรี และมีคุณโก๋ ดร.พนมกร ไทยสันติสุข วิศวกรชำนาญงานกรมชลประทาน เป็นวิทยากรใจดีคอยให้ข้อมูลและตอบคำถามในสิ่งที่เด็กๆสงสัยอยากรู้ โดย ด.ญ.วัฑฒกร ยังวาณิช หรือน้องใบบัว แชร์ประสบการณ์ให้เราฟังว่า "บัวได้ไปเห็นกังหันน้ำชัยพัฒนาที่เป็นของจริงลอยอยู่ในน้ำ ซึ่งทำมาจากสแตนเลส แล้วมีคุณลุงโก๋ใจดีเล่านิทานให้หนูกับเพื่อนๆฟังเกี่ยวกับเรื่องของในหลวงค่ะ ทำให้หนูได้รู้ว่ากังหันน้ำชัยพัฒนาทำงานอย่างไร" ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้เด็กๆจะได้สำรวจ สัมผัส และสังเกตลักษณะของกังหันน้ำชัยพัฒนาของจริง และถ่ายทอดผ่านการวาดรูป เพื่อนำเสนอผลงานให้เพื่อนๆได้ชมกัน

โดยก่อนสัปดาห์สุดท้ายจะมาถึง เด็กๆแบ่งกลุ่มกันทำ Venn Diagram เปรียบเทียบรูปแบบกังหันน้ำชัยพัฒนาแบบ Aแบบ B และแบบ C กับแบบ D ทำเป็นของที่ระลึกให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมนิทรรศการ และฝึกการอธิบายในสิ่งที่เด็กๆแต่ละคนต้องรับผิดชอบในแต่ละมุม ต่อจากนั้นเด็กๆพยายามหัดอ่านและสะกดเนื้อเพลงที่ช่วยกันแต่งขึ้นอย่างตั้งใจ พร้อมทั้งเคาะจังหวะตามทำนองเพลง ซึ่งถือว่าเป็นการเรียนรู้ในการนำทักษะด้านวิชาภาษาไทยมาประยุกต์ใช้กับวิชาดนตรีได้อย่างลงตัว โดยน้องการ์ตูน ด.ญ.ณิชนันทน์ วีรกุล รีบยกมือขออาสานำเพื่อนๆซ้อมร้องเพลง "กังหันน้ำ กังหันน้ำ ชัยพัฒนา ในหลวงทรงคิดค้นขึ้นมา เพื่อให้ความสุขกับชาวประชา โดยใช้ผักตบชวา และกังหันมา เติมอากาศ น้ำก็สะอาด ทำให้ชาวประชามีความสุขเอย " ช่างไพเราะจริงๆเลยค่ะน้องการ์ตูน

และแล้วสัปดาห์สุดท้ายของการทำโครงงานเรื่อง "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ก็มาถึง เด็กๆได้ร่วมกันศึกษาและสรุปถึงสิ่งต่างๆที่สงสัย ออกมาเป็นนิทรรศการขนาดย่อมภายในห้องเรียนให้ได้ทึ่งกับความอัจฉริยะตัวน้อยของหนูน้อยกุ๊กไก่ โดยมีการแบ่งหน้าที่ในการจัดมุมห้องต่างๆ ตามความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งเด็กๆได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะสะเต็มศึกษามาช่วยกันคิดประดิษฐ์ผลงานต่างๆให้ออกมาเป็นสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกังหันน้ำชัยพัฒนาจำลองให้ทุกคนได้ชมกัน และสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าชมทุกคน

กังหันน้ำของพ่อ กังหันน้ำของพ่อ กังหันน้ำของพ่อ