ไปรษณีย์ไทย ผลักดัน “บ้านขุนสมุทรจีน” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ขยายพื้นที่ “โครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข”

07 Dec 2016
ไปรษณีย์ไทย ผลักดัน “บ้านขุนสมุทรจีน” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ขยายพื้นที่ “โครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข”

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เปิดตัว "บ้านขุนสมุทรจีน ปราการด่านสุดท้ายแห่งการอนุรักษ์" ภายใต้โครงการ "ไปรษณีย์เพิ่มสุข" เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีความโดดเด่นให้เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและผลักดันสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีช่องทางการจำหน่ายมากขึ้น โดยใช้ศักยภาพเครือข่ายของไปรษณีย์ไทยเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของชุมชน และรายได้ส่วนหนึ่งจากโครงการไปรษณีย์เพิ่มสุขจะนำมาพัฒนาสิ่งแวดล้อมชายฝั่งของชุมชนและลดการกัดเซาะของน้ำทะเล

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวถึงการเปิดตัวโครงการ "บ้านขุนสมุทรจีน ปราการด่านสุดท้ายแห่งการอนุรักษ์" ว่า โครงการดังกล่าวฯ เป็นหนึ่งในการสนับสนุนชุมชนที่สำคัญ "โครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข" ของไปรษณีย์ไทยซึ่งได้น้อมนำแนวพระราชดำริหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อพัฒนาศักยภาพส่งเสริมและสนับสนุนของชุมชนท้องถิ่นด้วยการใช้เครือข่ายของไปรษณีย์ไทยที่ครอบคลุมเข้าถึงชุมชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนโดยเน้นพื้นฐานความต้องการของชุมชนภายใต้แนวคิดการพัฒนา 3 หลัก ได้แก่ การพัฒนาทัศนคติด้วยการกระตุ้นให้ชุมชนคิดและทำด้วยตนเอง การพัฒนาความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาชุมชน การพัฒนาการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อให้การตัดสินในการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีแบบแผน โดยไปรษณีย์ไทยมีบทบาทในการให้คำแนะนำ เพื่อให้ทุกคนในชุมชนเกิดความภูมิใจในผลงานของตนเอง นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นางสมร กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการ"บ้านขุนสมุทรจีน ปราการด่านสุดท้ายแห่งการอนุรักษ์" จ.สมุทรปราการ นั้น เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนที่ยืนหยัดต่อสู้กับพลังธรรมชาติแห่งท้องทะเลด้วยการปลูกป่าชายเลนมานานหลายทศวรรษไปรษณีย์ไทยจึงได้ริเริ่มโครงการดังกล่าว โดยร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาชุมชนจากแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมสนับสนุนผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรคลองยายหลีเข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ กุ้งแห้ง กุ้งอบ และกุ้งอบสามรส ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่คัดเลือกมานั้น ไปรษณีย์ไทยจะประสานงานให้คำปรึกษาแนะนำการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามเพื่อนำออกสู่ตลาด และในเบื้องต้นได้นำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาวางจำหน่าย ณ ที่ทำการไปรษณีย์ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 20 แห่ง โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย อาทิ ปณ.พระสมุทรเจดีย์ ปณ.พระประแดง ปณ.สมุทรปราการ และ ปณ.ภาษีเจริญ เป็นต้นพร้อมเตรียมนำสินค้าที่ได้รับการพัฒนาเข้าระบบ "อร่อยทั่วไทย สั่งได้ที่ไปรษณีย์" เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าและสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้นในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งเป็นการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาให้ชุมชนเติบโตแข็งแรง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นางสมร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการสนับสนุนและปรับโฉมผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพื่อออกสู่ตลาดแล้ว ไปรษณีย์ไทยยังได้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับชุมชนในการออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม พร้อมร่วมกันหาแนวทางรักษาผืนดินไว้ โดยเบื้องต้นได้ดำเนินการปลูกป่าไผ่รวมกับป่าชายเลนเพื่อยึดพื้นดินไว้จากการถูกน้ำทะเลกัดเซาะและทำการฟื้นฟูธรรมชาติให้สมบูรณ์เพื่อสามารถสร้างชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติรวมไปถึงการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งตู้ไปรษณีย์แลนด์มาร์ค พร้อมจัดทำโปสการ์ดภาพสถานที่ต่างๆ ในชุมชนสำหรับนักท่องเที่ยวสามารถเขียนและส่งได้ทันที ทั้งนี้รายได้ที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบไปรษณีย์และธุรกิจท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งจะนำไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมชายฝั่งและลดการกัดเซาะของน้ำทะเลต่อไป

สำหรับในปี 2559 ไปรษณีย์ไทยดำเนินโครงการไปรษณีย์เพิ่มสุขไปแล้วหลายพื้นที่ ได้แก่ โครงการข้าวฮางบ้านกุดจิก กินดีอยู่ดี จังหวัดสกลนคร โครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข วิถีชุมชน คนตีมีดอรัญญิกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการเที่ยวสวนผึ้งบึ่งไปไปรษณีย์ จังหวัดราชบุรี โครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข ประชารัฐเข้มแข็ง แห่งเมืองสองแควจังหวัดพิษณุโลกและล่าสุดคือโครงการบ้านขุนสมุทรจีน ปราการด่านสุดท้ายแห่งการอนุรักษ์ จังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้ไปรษณีย์ไทยยังคงมุ่งมั่นในการสานต่อโครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข โดยตั้งเป้าขยายโครงการไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งในปี 2560 ไปรษณีย์ไทยมีแผนที่จะดำเนินโครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข อาทิ โครงการ "พัฒนาผลิตภัณฑ์ลำไยอบแห้ง ชุมชนสหกรณ์การเกษตรประตูป่า" จังหวัดลำพูน และโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น เพื่อเป็นเครือข่ายส่งต่อความสุขจากชุมชนท้องถิ่นสู่คนไทย มุ่งสู่การเป็นผู้นำในการเชื่อมโยงสังคมไทย ด้วยเครือข่ายไปรษณีย์และทรัพยากรที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และตอกย้ำการเป็นเครือข่ายชีวิตและเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มภาคภูมิ นางสมร กล่าวในท้ายสุด

ด้านนายวิษณุ เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านชุมชนขุนสมุทรจีนกล่าวว่า ชุมชนขุนสมุทรจีนเป็นชุมชนขนาดเล็ก ที่มีประชากรจำนวนเพียง 14 หลังคาเรือน ซึ่งกว่าร้อยละ 90 ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง อาทิ ฟาร์มกุ้ง ฟาร์มหอยแครง และสัตว์น้ำอื่นๆ ตามฤดูกาลโดยหลังจากที่ชุมชนขุนสมุทรจีนเข้าร่วมโครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข กับไปรษณีย์ไทย ก็ได้รับการสนับสนุนในหลายด้าน โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ชุมชนขุนสมุทรจีนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ใกล้กรุงเทพฯ ทำให้มีนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ และนักท่องเที่ยวที่ทราบข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ มาเยี่ยมชมธรรมชาติของชุมชนขุนสมุทรจีนเพิ่มขึ้นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายอาหารทะเลสด และอาหารทะเลแปรรูปได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชุมชนขุนสมุทรจีนจะได้รับประทานอาหารทะเลที่สด มีคุณภาพ กับบรรยากาศธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ บนผืนดินที่เป็นเอกลักษณ์ และจุดถ่ายภาพที่สวยงาม เช่น อุโบสถวัดขุนสมุทรจีน ตู้ไปรษณีย์แลนด์มาร์ค ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และมีชีวิตชีวามากขึ้น

นางจรูญ ไกรเนตร ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านคลองยายหลี ชุมชนขุนสมุทรจีน กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข ขอไปรษณีย์ไทยนั้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนในหลายๆ ด้าน ทั้งการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ และขยายช่องทางการจำหน่ายเพื่อสร้างการยอมรับ และการเป็นที่รู้จักแก่ผู้บริโภคให้กว้างขึ้น โดยเบื้องต้นได้นำร่องพัฒนา 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กุ้งแห้ง กุ้งกรอบ และกุ้งสามรส เริ่มจากการวางแผนการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นที่สวยงามและเป็นที่น่าสนใจไปจนถึงการสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายโดยให้พื้นที่การวางจำหน่ายสินค้า ณ ที่ทำการไปรษณีย์บริเวณใกล้เคียงชุมชน และสนับสนุนการขนส่งโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนได้มีงานทำ มีรายได้ โดยขณะนี้มีปริมาณการผลิตกุ้งสดสูงถึง 100 กิโลกรัมต่อวัน จำหน่ายราคาขายกิโลกรัมละ 50 บาท แต่เมื่อนำมาแปรรูปและวางจำหน่าย ณ ที่ทำการไปรษณีย์ สามารถจำหน่ายได้ถึงกิโลกรัมละ 100 บาท ส่งผลให้ชาวบ้านกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านคลองยายหลีจำนวน 7 คนมีรายได้รวมทั้งกลุ่มสูงถึง 100,000 บาทต่อเดือนเพิ่มขึ้นจากรายได้เดิมประมาณ 30,000 บาท อย่างไรก็ตามหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเข้าร่วมโครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข ของไปรษณีย์ไทยจะช่วยชุมชนสามารถมีอาชีพที่เข้มแข็งและเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ THP Contact Center 1545 หรือ เว็บไซต์ www.thailandpost.co.th

HTML::image( HTML::image( HTML::image(