โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมองและเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มภาวะสมองเสื่อม โดยพบว่าความชุกของโรค เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 ในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ปัจจุบันไม่ได้เริ่มเกิดในผู้ป่วยอายุ 65 ปี เพราะจากการศึกษาพบว่าการเกิดโรคจะเริ่มตั้งแต่ช่วงอายุ 40-65 ปี และเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 47 ในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 85 ปี และจากข้อมูลสถิติระบาดวิทยาของ WHO พบว่าอุบัติการณ์ และความชุกของโรคอัลไซเมอร์มากขึ้นตามอายุ พบว่า 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุ 85 ปี เป็นโรคอัลไซเมอร์ สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยสมองเสื่อมในวัยสูงอายุกว่า 4 แสนคน และคาดว่าจะเพิ่มตามจำนวนผู้สูงอายุ โดยพบว่า ความชุกของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุมีร้อยละ 12.4
โรคอัลไซเมอร์มีระยะเวลาก่อโรคนานประมาณ 15-20 ปีกว่าจะมีอาการสมองเสื่อมชัดเจน การแสดงอาการของโรคจะเป็นไปอย่างช้าๆ เริ่มต้นจากไม่มีความผิดปกติเรื่องความจำ และเริ่มมีอาการความจำถดถอย ต่อมาผู้ป่วยจึงจะมีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีอาการสมองเสื่อมชัดเจน ดังนั้น จึงควรสังเกตตัวเองหรือบุคคลใกล้ชิดว่าเริ่มมีอาการหลงๆ ลืมๆ ผิดปกติหรือไม่ เช่น ลืมสิ่งของ ลืมปิดเตาแก๊ส ลืมกุญแจ ลืมปิดประตูบ้าน ลืมปิดไฟ ลืมทำในสิ่งที่เคยทำในชีวิตประจำต่างๆ มากขึ้น มีความจำถดถอย นึกชื่อสิ่งของไม่ออก ภาวะการนอนผิดปกติหรือเห็นภาพหลอน ควรรีบพบแพทย์ระบบประสาททันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุแต่เนิ่นๆ
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้พัฒนาไปมาก มีการตรวจความผิดปกติทางระบบประสาทด้วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยตรวจด้วยเครื่องเพท-ซีที (PET-CT) เพื่อตรวจหาความผิดปกติทางสมองโดยสามารถตรวจ • ภาวะสมองเสื่อม • ภาวะการเคลื่อนไหวผิดปกติ เช่น วินิจฉัยโรคพาร์กินสัน และ ประเมินผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดรักษาโรคลมชัก
โรคของภาวะเสื่อมของระบบประสาท มีความเกี่ยวข้องกับระดับที่ผิดปกติและการสะสมของโปรตีนในสมอง คือ "เบต้าอะไมลอยด์" และ Tau การตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมด้วยเครื่องเพทซีที คือการใช้สารเภสัชรังสี 2 ชนิด ชนิดแรก11C-PiB (Pittsburgh) เป็นการตรวจการสะสมของโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์ในสมอง สารชนิดที่ 2 คือ 18F-THK 5351เป็นการตรวจการสะสมของโปรตีน Tau ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ โดยมีบทบาทในการค้นหาผู้ป่วยระยะแรก (early detection) ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ก่อนที่จะมีอาการ การตรวจวินิจฉัยยืนยันโรคอัลไซเมอร์ในผู้ป่วยที่อาการแสดงทางคลินิกไม่ชัดเจน ช่วยพยากรณ์โรคในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ การวินิจฉัยแยกโรคอัลไซเมอร์จากโรคภาวะสมองเสื่อมจากสาเหตุอื่นๆ ทำให้การตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาทในภาวะสมองเสื่อมมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ในการวางแผนการดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยวางแผนปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตามคงไม่มีใครอยากเป็นโรคภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ ดังนั้นเราจึงควรดูแลตัวเองด้วยวิธีง่ายๆ คือหมั่นบริหารสมอง เช่น อ่านหนังสือเป็นประจำ เล่นเกมที่อาศัยการคิดคำนวณ ฟังดนตรีบริหารสมอง พบปะพูดคุยเข้าสังคม ดูแลสุขภาพจิตให้ดี เช่น เป็นคนคิดบวกพยายามไม่เครียด ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การดูแลสุขภาพเหล่านี้อาจช่วยชะลอหรือทุเลาอาการเสื่อมที่จะเกิดขึ้นได้
ณ ปัจจุบัน ทางศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ยังมีศักยภาพในการผลิตสารเภสัชรังสีที่ผู้เชี่ยวชาญให้การยอมรับในการตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาทที่มีประสิทธิภาพได้หลากหลายชนิด อาทิ 18F-FDG สำหรับตรวจโรคทางระบบประสาท โรคทางสมอง และ โรคลมชัก, 18F-FDOPA สำหรับตรวจโรคพาร์กินสัน หรือ ผู้ที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ, 11C-PiB และ 18F-THK 5351 สำหรับตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ ทั้งนี้ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติเป็นผู้นำและเป็นแห่งเดียวที่สามารถผลิตสารเภสัชรังสี 18F-THK 5351 โดยนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยทำให้การตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาทในภาวะสมองเสื่อมมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือนัดหมายเข้ารับบริการ
ได้ที่ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ หลักสี่
โทร. 02-574-3355 และ 087-694-7559
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit