นักวิทยาศาสตร์สิ่งทอ มธ. เตือนคนไทย 'เสื้อจากฝ้าย-เฟอร์ขนสัตว์เก่า’เสี่ยงมีเชื้อราสูง พร้อมแนะ 3 วิธีทำความสะอาดสิ่งทอกันหนาว

07 Dec 2016
นักวิทยาศาสตร์สิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เตือนคนไทย เสื้อกันหนาวจากผ้าฝ้าย-ขนสัตว์ เสี่ยงมีเชื้อราสูง หากเก็บนานเกิน 1 ปี เนื่องจากเป็นชนิดผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของเชื้อรา ตัวมอดและแมลง พร้อมแนะ 3 วิธีทำความสะอาดสิ่งทอกันหนาว ดังนี้ 1. ไม่ควรใช้สารฟอกขาว สำหรับเสื้อไหมพรม 2. ไม่ควรใช้สารซักฟอกที่มีส่วนผสมของกรดผสม สำหรับเสื้อที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ (ฝ้าย ลินิน) และ 3. ควรซักแห้ง หรือซักในน้ำธรรมดากับสารซักฟอกอย่างอ่อน และอย่าขยี้แรง สำหรับเสื้อขนสัตว์ เพื่อรักษาและคงสภาพของขนสัตว์ อย่างไรก็ตาม หากหมดช่วงฤดูของการสวมใส่เสื้อกันหนาวแล้ว ควรซักทำความสะอาดให้เรียบร้อย พับเก็บใส่ถุงซิปล็อค พร้อมกับรีดเอาอากาศภายในถุงออก เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราจากความชื้นของอากาศในถุง และตัวมอดที่เข้ามากัดกินทำลายโครงสร้างผ้าฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้ฤดูหนาวในปีถัดไป สามารถนำเสื้อกันหนาวกลับมาใช้ได้เหมือนใหม่อีกครั้ง
นักวิทยาศาสตร์สิ่งทอ มธ. เตือนคนไทย 'เสื้อจากฝ้าย-เฟอร์ขนสัตว์เก่า’เสี่ยงมีเชื้อราสูง พร้อมแนะ 3 วิธีทำความสะอาดสิ่งทอกันหนาว

อาจารย์จิราพร หุตะกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.เปิดเผยว่าจากสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่กำลังปรับตัวหนาวเย็นในช่วงปลายปี หรือเดือนธันวาคม ซึ่งเกิดขึ้นเพียงปีละ 1 ครั้ง ส่งผลให้ประชาชนเตรียมรื้อหาเสื้อกันหนาวตัวเก่งที่เคยเก็บไว้เมื่อปีที่ผ่านมา กลับมาใช้อีกครั้ง แต่ทั้งนี้ เสื้อกันหนาวตัวเก่ง อาจเกิดการสะสมของไรฝุ่น เชื้อรา และแบคทีเรีย ที่อาจเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และทางผิวหนังของบุคคลที่มีอาการภูมิแพ้ หรือภูมิต้านทานต่ำ อาทิ เด็กเล็กและผู้สูงอายุซึ่งอาจก่อให้เกิดผื่นแดง อาการคัน และการหายใจติดขัดได้ ดังนั้น หากนำเสื้อกันหนาวกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง จึงควรระมัดระวัง และสังเกตความผิดปกติของลักษณะของเชื้อรา ซึ่งอาจมาในรูปของจุดสีขาว สีดำ หรือสีชมพู ฯลฯ ซึ่งหากเกิดในลักษณะดังกล่าว ควรตัดใจทิ้งทันที เพื่อสุขภาพที่ดีในช่วงหน้าหนาว

อาจารย์จิราพร กล่าวต่อว่า ขณะที่เสื้อกันหนาวที่ไม่พบความผิดปกติ หรือการสะสมเชื้อราและแบคทีเรียในลักษณะดังกล่าว สามารถเลือกทำความสะอาดได้ตามชนิดผ้าซึ่งปัจจุบันชนิดผ้าของเสื้อกันหนาวที่ได้รับความนิยมมี 3 ประเภท ดังนี้

1. เสื้อไหมพรม ส่วนมากจะทำมาจากเส้นใยประดิษฐ์ (ใยสังเคราะห์) ซึ่งการดูแลรักษาจะดูแลรักษาง่ายกว่าชนิดผ้าอื่น ๆ เพราะไม่ยับ หรือยับน้อย ไม่ต้องรีด หรือรีดเพียงเล็กน้อย การซักผ้าเส้นใยประดิษฐ์นั้นขึ้นอยู่กับส่วนผสมของเส้นใย ซึ่งส่วนใหญ่สามารถซักได้ในน้ำธรรมดากับสบู่ หรือใช้ผงซักฟอกที่มีด่างเข้มข้นได้ถ้าผ้านั้นมีความสกปรกมาก แต่ไม่ควรใช้สารฟอกขาว และควรตากด้วยการพาดบนราวตากผ้า แทนการแขวนด้วยไม้แขวน เพื่อป้องกันการเสียรูปของเสื้อ เนื่องจากเสื้อไหมพรม มีโครงสร้างผ้าเป็นห่วง (ผ้าถัก) และมีความยืดหยุ่นสูง

2. เสื้อที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ (ฝ้าย ลินิน) การดูแลรักษาของผ้าธรรมชาติ สามารถใช้ผงซักฟอกทั่วไปได้ แต่ไม่ควรใช้ส่วนผสมที่มีกรดผสมอยู่เพราะจะไปทำลายเส้นใย โดยสามารถนำผ้าไปตากแดดได้ แต่ไม่ควรนานเกินไป เพราะแสงแดดจะเข้าไปทำลายเส้นใยของผ้า ขณะที่การรีดสามารถใช้ความร้อนได้ค่อนข้างสูง แต่ต้องดูลักษณะของเสื้อผ้าด้วยว่ามีเส้นใยอื่น ๆ ผสมอยู่หรือไม่ ขณะที่การเก็บรักษาไม่ควรเก็บในที่ชื้น เพราะจะทำให้เกิดการขี้นราได้ง่าย

3. เสื้อขนสัตว์ควรซักในน้ำธรรมดากับสารซักฟอกอย่างอ่อน และอย่าขยี้แรง ควรทำความสะอาดด้วยวิธีการซักแห้งจะดีที่สุด เพื่อเป็นการรักษาและคงสภาพของผ้าขนสัตว์ ส่วนวิธีการรีด ควรใช้ไฟอ่อน เพราะจะทำให้ผ้ากลายเป็นสีเหลือง หรือเก่าเร็ว ทางที่ดีที่สุดควรใช้เตารีดไอน้ำหรือต้องใช้ความชื้นเข้าช่วยในการรีด และใช้ความร้อนในอุณหภูมิปานกลาง ขณะที่การเก็บรักษาผ้าขนสัตว์ควรระวังในเรื่องของมอดและแมลง เพราะผ้าขนสัตว์เป็นเส้นใยโปรตีน เป็นแหล่งอาหารของแมลง

อย่างไรก็ตามหากหมดช่วงฤดูของการสวมใส่เสื้อกันหนาวแล้ว ควรซักทำความสะอาดให้เรียบร้อย พับเก็บใส่ถุงซิปล็อค พร้อมกับรีดเอาอากาศภายในถุงออก เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดเชื้อรา จากความชื้นของอากาศในถุง ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันตัวมอดที่เข้ามากัดกินทำลายโครงสร้างผ้าเป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ฤดูหนาวในปีถัดไป สามารถนำเสื้อกันหนาวกลับมาใช้ได้เหมือนใหม่อีกครั้ง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์0-2564-4491หรือคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th

HTML::image( HTML::image( HTML::image(