นายวิบูลย์ กิ่งสุวรรณ นายอำเภอน้ำเกลี้ยง ดแปรจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นการบูรณาการงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยในอำเภอน้ำเกลี้ยงได้เข้าถึงแหล่งอาหารอย่างเพียงพอ เพื่อโภชนาการที่ดีขึ้น สร้างความพร้อมในการเรียนรู้ รวมยังใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนในการฝึกทักษะอาชีพแบบครบวงจรทั้งการผลิต และการจัดการ ที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนผู้ที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต
ดร.ชอุ่ม กรไกร ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษเขต 1 กล่าวว่า โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการเรียนรู้เยาวชน จำเป็นต้องได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ เพื่อการพัฒนาการด้านสมอง นายอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ กรรมการและรองเลขาธิการ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์และเหล่าพนักงาน ร่วมกับ ซีพีเอฟ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยในภาวะโภชนาการของเด็กและเยาวชน มาดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบันกว่า 27 ปีแล้ว ในแต่ละปี โครงการฯ มีขยายการสนับสนุนแก่โรงเรียนในระดับประถมศึกษาทั่วประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 50 แห่ง โดยมีภาคีเครือข่ายที่มีเจตนารมย์สอดคล้องกัน อย่าง JCC ซึ่งให้การสนับสนุนโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2543 ต่อเนื่องจนถึงปีนี้เป็นปีที่ 17 มุ่งเน้นการช่วยเหลือโรงเรียนที่มีปัญหาทุพโภชนาการโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
"ตลอดระยะเวลา 17 ปีของความร่วมมือระหว่างมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ กระทรวงศึกษาธิการ และซีพีเอฟ ได้ช่วยเหลือโรงเรียนทั่วประเทศ 112 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวม 25.52 ล้านบาท ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในชนบทรวม 33,000 คน ได้มีอาหารอิ่มท้อง พร้อมต่อการเรียนรู้และมีทักษะอาชีพ" นายอภัยชนม์กล่าว
สำหรับในปีนี้ JCC ได้ร่วมสนับสนุนโครงการฯ รวม 1.52 ล้านบาท และจัดพิธีส่งมอบโครงการฯ แก่โรงเรียน 5 แห่ง ได้แก่ 1. โรงเรียนบ้านคูบ ตำบลคูบ อำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ 2.โรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ 3.โรงเรียนบ้านแปดอุ้ม ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี 4. โรงเรียนพยัคภูมิพิสัย ตำบลลานสะแก อำเภอพยัคภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม 5. โรงเรียนบ้านนาซาว ตำบลหนองหัวชา อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ
โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับการสนับสนุนโรงเรือนมาตรฐาน อุปกรณ์กรงตับ พันธุ์สัตว์,อาหารสัตว์สำหรับการเลี้ยงตลอดระยะเวลาการเลี้ยง 1 รุ่น คือ 56 สัปดาห์ การถ่ายทอดความรู้ และการส่งผู้เชี่ยวชาญมาติดตามให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง นักเรียน ครู และชุมชน ได้เรียนรู้ระบบการบริหารจัดการ และการพัฒนาความรู้สู่หลักสูตรการเรียนการสอนและหลักสูตรในท้องถิ่น เกิดการขยายผลสู่กิจกรรมอื่น การจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนของโรงเรียน เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพทางเลือกของนักเรียนและชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงได้ต่อไป
ด้านซีพีเอฟ ได้ร่วมสนับสนุนปัจจัยการผลิตอาทิ พันธุ์สัตว์ และอาหารสัตว์ รวมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญถ่ายทอดความรู้ และคำแนะนำในการเลี้ยงและบริหารจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและหลักสุขาภิบาล จัดทำคู่มือการดำเนินงานโครงการฯ สำหรับครู และนักเรียน เพื่อให้สามารถดูแลโครงการฯ ได้อย่างเป็นระบบ มีผลผลิตเป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้สามารถโรงเรียนเหล่านี้สามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัยได้เอง ลดค่าใช้จ่ายสำหรับจัดซื้อวัตถุดิบอาหารกลางวัน รวมทั้งยังสามารถจำหน่ายผลผลิตให้ชุมชนเพื่อเป็นรายได้ของโรงเรียน นำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ก่อตั้งโดยมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ร่วมกับซีพีเอฟน้อมนำแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2531 โดยร่วมมือกับซีพีเอฟ และองค์กรพันธมิตรอย่าง JCC ได้สนับสนุนโรงเรียนไปแล้ว 605 แห่งทั่วประเทศ มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เยาวชนกว่า 140,000 คนทั่วประเทศ และในปีนี้จะส่งมอบโครงการฯ ให้กับโรงเรียนแห่งใหม่เพิ่มอีก 56 แห่ง เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งอาหารของเยาวชนให้เพิ่มมากขึ้น โดยได้บริโภคไข่ไก่คนละ 120 ฟอง/คน/ปี อย่างเพียงพอและยั่งยืน./