อลังการ“สถานีสนามไชย” ฝีมือศิลปินแห่งชาติ ความภูมิใจของช.การช่าง ผสานศักยภาพด้านวิศวกรรมสมัยใหม่กับเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย

21 Dec 2016
ด้วยบรรยากาศและการตกแต่งในรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยแท้ๆ ที่วิจิตร ประณีต ต่างไปจากสถานีรถไฟฟ้าแห่งอื่นๆ "สถานีสนามไชย" ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ถือเป็นความภูมิใจของ ช. การช่าง ที่ได้รับมอบหมายจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้เป็นผู้ก่อสร้าง โดยผสานศักยภาพด้านวิศวกรรมสมัยใหม่เข้ากับเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทย ที่ได้ปรมาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมไทย รองศาสตราจารย์ ดร. ภิญโญ สุวรรณคีรี เป็นผู้ออกแบบและจะกลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพฯ ในอนาคต
อลังการ“สถานีสนามไชย” ฝีมือศิลปินแห่งชาติ ความภูมิใจของช.การช่าง ผสานศักยภาพด้านวิศวกรรมสมัยใหม่กับเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย

รศ. ดร. ภิญโญ สุวรรณคีรี ปรมาจารย์ผู้ชำนาญเรื่องสถาปัตยกรรมไทยชนิดหาตัวจับยากที่ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประจำปีพ.ศ. 2537 ราชบัณฑิต และได้ฝากฝีมือผลงานสถาปัตยกรรมไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแล้วมากมาย เล่าถึงแนวคิดในการออกแบบสถานีรถไฟฟ้าแห่งนี้ว่า แนวคิดในการออกแบบสถานีนี้ เกิดจากแรงบันดาลใจจากพื้นที่โดยรอบและโบราณวัตถุที่ขุดได้ในบริเวณสถานี

"แนวคิดการออกแบบที่แตกต่างสำหรับสถานีนี้ เป็นความตั้งใจที่เราต้องการสร้างเอกลักษณ์ของสถานีรถไฟฟ้าของไทย ให้ชาวต่างชาติและคนไทยที่มาใช้บริการที่นี่ ประทับใจ จำได้ เราใช้แนวคิดอิงประวัติศาสตร์ในการออกแบบสถานีสนามไชยให้สอดคล้องกับอาคารสำคัญโดยรอบ ซึ่งเป็นเขตพระนครชั้นในบนเกาะรัตนโกสินทร์ รวมทั้งได้มีการขุดพบคลองรากหรือบริเวณฐานรากของโครงสร้างอาคารพระราชวังเก่าในบริเวณที่จะก่อสร้างสถานี เราจึงได้ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยโบราณมาเป็นแนวในการออกแบบเพื่อสื่อถึงความทรงคุณค่าและเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยที่สามารถหลอมรวมกับชีวิตคนยุคใหม่ได้อย่างกลมกลืน" รศ. ดร. ภิญโญกล่าว

ภายในสถานี วางผังตามแบบสถาปัตยกรรมไทยโบราณ มีเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สีขาวเรียงรายขนาบข้างทางเดิน บัวหัวเสาปิดทองคำเปลวเป็นสีทองอร่าม มีองค์และฐานเสาตามธรรมเนียมสถาปัตยกรรมไทย พื้นและผนัง จำลองมาจากกำแพงเมืองลายประจำยาม เพดานตกแต่งลายไทยเป็นลายฉลุแบบดาวล้อมเดือน ปิดทองคำเปลวเช่นกัน ทำให้รู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในอาคารไทยโบราณหรือพระอุโบสถที่ครูช่างฝีมือเยี่ยมได้รังสรรค์ขึ้นอย่างประณีต

แม้ว่าบรรยากาศจะเป็นไทยแท้ๆ แต่ก็มีกลิ่นอายความทันสมัย ด้วยลายเส้นกราฟิกบนพื้น บนเสา และในรายละเอียดตามที่ต่างๆ รวมทั้งการจัดวางผังที่สอดคล้องกับการใช้งานรถไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและลงตัว กลมกลืนไม่ขัดตา

"ผมลงมาดูเองในทุกรายละเอียด ทุกจุด เพราะต้องการให้สถานีนี้เป็นเอกลักษณ์ของไทยที่คนทั่วโลกต้องมาดู ใครๆ ต้องรู้จัก เราตั้งใจออกแบบและจัดทำอย่างประณีตทุกชิ้น เพื่อสร้างผลงานที่จะอยู่คงทน เป็นสมบัติของชาติ ไม่ใช่แค่เป็นอาคารที่รองรับผู้โดยสารผ่านไปมาเท่านั้น นอกจากนี้ ยังถือเป็นการอนุรักษ์ศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยให้คนรุ่นหลังได้เห็นและชื่นชม"รศ. ดร.ภิญโญ กล่าว

สถานีสนามไชยอยู่ในเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วง "บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง –บางแค" ระยะทาง 27 กิโลเมตร เป็นโครงการที่รับผิดชอบโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลแห่งประเทศไทย (รฟม.) และได้มอบหมายให้ ช. การช่างเป็นผู้ดำเนินการออกแบบก่อสร้างและตกแต่งในช่วงสนามไชย-ท่าพระ ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ในส่วนของสัญญาที่ 2 จากทั้งหมด 5 สัญญา โดยปัจจุบันโครงการสถานีสนามไชยมีความคืบหน้าไปมากถึง 100% และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ตามกำหนด

สถานีสนามไชยตั้งอยู่บริเวณถนนสนามไชย บนเกาะรัตนโกสินทร์ ไม่ไกลจากวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง มีสถานที่ทางวัฒนธรรมอยู่โดยรอบ ถือเป็นแหล่งการท่องเที่ยวที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร และมีนักท่องเที่ยวสัญจรผ่านเป็นจำนวนมาก

ดร.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า "สำหรับโครงการนี้ ช. การช่าง ได้ใช้ศักยภาพด้านวิศวกรรมเพื่อควบคุมการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรม หรือ Engineer Meets Arts โดยนำความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและการก่อสร้างที่เราสั่งสมมากว่า 44 ปี มาใช้ในการควบคุมให้การก่อสร้างและตกแต่งสถานีตามแบบสถาปัตยกรรมไทยที่ทรงคุณค่า มีความงดงามอ่อนช้อย แต่สง่างามอยู่ในตัว ซึ่งต้องอาศัยทักษะความเข้าใจ และเทคโนโลยีที่จะผสานทั้ง 2 ด้านนี้ไว้ด้วยกันอย่างลงตัวเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครให้แก่ผู้โดยสารที่ได้เข้ามาใช้บริการ

"ภายใต้ความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์แบบไทยรัตนโกสินทร์ สถานีสนามไชยสะท้อนความเป็นเลิศด้านการออกแบบทั้งในเชิงวิศวกรรม การจัดพื้นที่ใช้สอยที่คำนึงถึงผู้ใช้งาน ความสะดวกและปลอดภัย ไปพร้อมกับการตกแต่งที่มีรายละเอียด สะท้อนความเป็นไทยได้เป็นอย่างดีสถานีสนามไชยจะเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คที่สำคัญของกรุงเทพฯ เป็นจุดที่เชื่อมความเป็นไทยกับความทันสมัยเข้าด้วยกัน" ดร.สุภามาส กล่าว

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตลอดทั้งเส้นจะเป็นรถไฟฟ้าที่มีเอกลักษณ์และความโดดเด่นมาก เพราะเป็นเส้นที่วิ่งผ่านบริเวณที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน ดังนั้นนอกจากสถานีสนามไชยแล้ว ช.การช่างยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการออกแบบก่อสร้างและตกแต่งสถานีอิสรภาพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานีที่จะถูกตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมไทยด้วยแนวคิดที่แตกต่างออกไป โดยจะตกแต่งด้วยหงส์ สัตว์ในวรรณคดีไทยเป็นสำคัญเนื่องจากตั้งอยู่ใกล้วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร

"การออกแบบสถานีอย่างมีเอกลักษณ์เช่นนี้ นอกจากจะเป็นการเล่าเรื่องราวเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ชาวต่างชาติแล้ว เราเชื่อว่าจะทำให้เราคนไทยทุกคนได้ตระหนักถึงคุณค่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของไทยที่เป็นหนึ่งเดียวในโลก ช.การช่างภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบโครงสร้างคมนาคมให้แก่ประชาชน พร้อมกับเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันงดงามที่หาได้ที่เมืองไทยเพียงแห่งเดียวในโลก" ดร.สุภามาส กล่าว

HTML::image( HTML::image( HTML::image(