นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาปริมาณการใช้น้ำจากการผลิตปาล์มน้ำมันในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่แปลงต้นแบบ จังหวัดชุมพร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) เพื่อศึกษาปริมาณการใช้น้ำ ประเมินมูลค่าน้ำทางเศรษฐกิจและเปรียบเทียบผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการผลิตของปาล์มน้ำมันในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จังหวัดชุมพร
จากการรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ในปี 2558 ที่เป็นสมาชิกในพื้นที่โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 63 ราย ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณการใช้น้ำ (Water Footprint)ของการผลิตปาล์มน้ำมัน 1 ตัน ใช้น้ำ 831 ลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นปริมาณน้ำฝน (Green Water Footprint) 482 ลูกบาศก์เมตร น้ำชลประทาน (Blue Water Footprint) 349 ลูกบาศก์เมตร
หรือปาล์มน้ำมัน 1 ไร่ ใช้น้ำ 2,157 ลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นปริมาณน้ำฝน (Green Water Footprint) 1,252 ลูกบาศก์เมตร น้ำชลประทาน (Blue Water Footprint) 905 ลูกบาศก์เมตร ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 6,630 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่ 4,789 บาท ต้นทุนการผลิตเมื่อรวมต้นทุนค่าน้ำเฉลี่ย 7,083 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่ 4,336 บาท โดยปริมาณน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร สามารถสร้างรายได้จากการผลิตปาล์มน้ำมัน 2.01 บาท
ทั้งนี้ หากเกษตรกรจะขยายหรือปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากแล้ว ควรพิจารณาถึงปริมาณน้ำฝนและน้ำชลประทานหรือน้ำในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย เพราะถ้าหากความต้องการน้ำชลประทานที่สูงกว่าน้ำฝนจะทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้น และเกษตรกรต้องปรับตัวกับสถานการณ์น้ำที่เปลี่ยนไปเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งภาครัฐจะมีการสนับสนุนความรู้และปัจจัยการผลิต โดยกำหนดมาตรการด้านการเกษตร พิจารณาจัดหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรควบคู่ไปด้วย และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของการใช้น้ำร่วมกัน หากท่านที่สนใจสามารถสอบถามผลการศึกษาเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสงขลา โทร. 077 311 373 หรือ อีเมล [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit