นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยว่า กปภ.ขอยืนยันว่า น้ำประปาปลอดภัยใช้หุงข้าวได้ แม้ว่าการเกิดสารไตรฮาโลมีเทนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งจะเกิดได้จากการทำปฏิกิริยาของคลอรีนกับสารอินทรีย์ในน้ำก็ตาม แต่สารอินทรีย์ที่ทำปฏิกิริยาได้ดีจะต้องเป็นกลุ่มของกรดฮิวมิก และกรดฟุลวิก ไม่ใช่กลุ่มคาร์โบไฮเดรตโมเลกุลใหญ่อย่างเช่น ข้าวสาร หรือแป้งต่าง ๆ อีกทั้งคลอรีนต้องอยู่ในรูปของคลอรีนอิสระ ซึ่งในระบบประปามีการควบคุมการจ่ายคลอรีนให้เหมาะสมและเพียงพอต่อการปรับปรุงคุณภาพน้ำ และการฆ่าเชื้อโรค โดยจะมีปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือถึงบ้านผู้ใช้น้ำประมาณ 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร อีกทั้งการนำน้ำประปาไปใช้เพื่อการหุงต้มจะยิ่งทำให้คลอรีนอิสระดังกล่าวระเหยไปได้เร็วขึ้น ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดสารไตรฮาโลมีเทนจากการนำน้ำประปาไปประกอบอาหารจึงน้อยมาก อย่างไรก็ดี กปภ.ตระหนักถึงคุณภาพน้ำประปาที่ให้บริการแก่ประชาชนเป็นสำคัญ จึงได้มีการทดสอบหาปริมาณสารไตรฮาโลมีเทนรวมในน้ำประปาเป็นประจำ ตามข้อมูลคุณภาพน้ำของ ปี2555 ถึง 2559 มีค่าผลรวมอัตราส่วนไตรฮาโลมีเทน ในช่วง 0.27 ถึง 0.54 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ดังนั้น ประชาชนผู้ใช้น้ำจึงวางใจได้ว่าประปาปลอดภัยต่อการอุปโภคและบริโภค
นายเสรี ศุภราทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณที่สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ออกแบบงานทดลอง "การหุงข้าวด้วยน้ำประปา" โดยใช้น้ำประปาจากก๊อก และใช้ข้าวสารที่มีจำหน่ายในท้องตลาดคือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวเสาไห้ และข้าวไรซ์เบอรรี่ จาก 8 ยี่ห้อ นำมาหุง เก็บตัวอย่าง และทดสอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการทดสอบ เพื่อหาปริมาณสารไตรฮาโลมีเทนในทุกขั้นตอนของการหุงข้าว เริ่มตั้งแต่ น้ำประปา ข้าวสาร น้ำซาวข้าว น้ำในขณะหุงข้าว และข้าวหุงสุก พบสารไตรฮาโลมีเทนในน้ำประปา 70 - 73 ไมโครกรัมต่อลิตร ในข้าวสารอยู่ในช่วง 0.60 - 1.20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ในน้ำซาวข้าวอยู่ในช่วง 32 - 42 ไมโครกรัมต่อลิตร ในน้ำขณะหุงข้าวอยู่ในช่วง 49 - 59 ไมโครกรัมต่อลิตร ส่วนข้าวหุงสุกอยู่ในช่วง 1.00 - 1.70 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม สรุปผลการทดสอบทุกตัวอย่างมีปริมาณสารไตรฮาโลมีเทนในระดับต่ำและไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน USEPA มีความปลอดภัยต่อการบริโภค ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งจากสารไตรฮาโลมีเทนอย่างแน่นอน จึงเป็นอีกหนึ่งคำยืนยันว่า "น้ำประปาปลอดภัยใช้หุงข้าวได้"