มรภ.สงขลา ใช้ระบบนิเวศวิศวกรรมอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมือง

15 Dec 2016
มรภ.สงขลา นำระบบนิเวศวิศวกรรมช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาแมลงศัตรูพืช อนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองสตูล แนะปลูกพืชหลายชนิดรักษาสมดุลในนาข้าว หวังต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
มรภ.สงขลา ใช้ระบบนิเวศวิศวกรรมอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมือง

ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนพร้อมคณะทำงานลงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพญาบังสา ต.ควนโพธิ์ อ.เมือง จ.สตูล ให้ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงศัตรูพืช และแนวทางการจัดระบบนิเวศวิศวกรรม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาแมลงศัตรูพืช จนส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตข้าว ทำให้พื้นที่การปลูกข้าวลดลงอย่างน่าวิตก ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่จึงหันไปใช้สารเคมีในการทำนาข้าวเพื่อเพิ่มผลผลิต ส่งผลให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีในข้าวและในสภาพแวดล้อม นอกจากนั้น ยังเกิดการกระตุ้นการเพิ่มประชากรของแมลง ที่ต้านทานสารฆ่าแมลงยิ่งขึ้น และการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่รุนแรงในระยะนี้

ดร.วนิดา กล่าวว่า รัฐบาลส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองเพื่ออนุรักษ์ ซึ่งในพื้นที่ จ.สตูลนั้นมีข้าวอัลฮัมเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ชาวมุสลิมนิยมปลูก เนื่องจากเป็นข้าวที่มีรสชาติอร่อย หวาน มัน และ อิ่มท้องได้นาน ทั้งยังเป็นพันธุ์ที่ปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ตนจึงนำเทคโนโลยีระบบนิเวศวิศวกรรมเข้ามาจัดการนิเวศวิทยาในนาข้าว โดยให้ความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตในนาข้าวอย่างสมดุล มีการปลูกพืชหลากหลายชนิด ซึ่งได้นำวิธีการนี้มาประยุกต์ใช้ในแปลงนาข้าว เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศในหลายพื้นที่ อีกทั้งยังสร้างความสวยงามบนคันนา และอาจเชื่อมโยงไปสู่การใช้พื้นที่นาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

HTML::image(