นักโภชนาการ โรงพยาบาลพระรามเก้า
คุณทราบหรือไม่ว่าอาหารในปัจจุบันนั้นมีมากมาย บางชนิดเราอาจจะคิดว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายทำให้สุขภาพดี แต่รู้หรือไม่ว่าอาหาร ผัก ผลไม้บางชนิดกลับมีอันตรายซ่อนอยู่อย่างไม่น่าเชื่อ อาหารบางอย่างจะมีสารหรือแร่ธาตุบางชนิดในปริมาณที่สูงมาก อาจก่อให้เกิดโทษกับผู้ป่วยบางโรคได้ การดูแลเรื่องอาหารให้กับผู้ป่วยโรคไตก็นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อย
น้ำทิพย์ ศรีวรานนท์ นักโภชนาการ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไตควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละวัน ได้แก่ ข้าว-แป้ง เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ น้ำมัน และต้องได้รับพลังงานเพียงพอ โดยในแต่ละมื้อควรมีอาหารหลากหลาย ผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ได้แก่ การลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม เพื่อควบคุมโรคที่มีผลกระทบต่อไต การบริโภคเนื้อสัตว์ต้องอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะเนื้อสัตว์มีโปรตีนสูง หากรับประทานมากเกินไป จะทำให้ปริมาณของเสียในร่างกายเพิ่มมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงทำให้ไตทำงานหนัก แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่น้อยเกินไป ก็จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร ปริมาณโปรตีนที่แนะนำ คือ 0.6-0.8 กรัม ต่อน้ำหนักตัวที่เหมาะสม 1 กิโลกรัม หรือขึ้นอยู่กับระยะของโรค และควรเลือกรับประทานโปรตีนคุณภาพสูง ได้แก่ เนื้อปลา โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก เนื่องจากมีไขมันต่ำและยังมีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง ไข่ขาว เนื้อหมู เนื้อไก่ (ไม่ติดหนัง-มัน) นมไขมันต่ำ เป็นต้น นอกจากนั้นอาหารจำพวก ข้าว-แป้ง เป็นแหล่งให้พลังงานที่สำคัญที่สุด เช่น ข้าวเจ้า ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว มักกะโรนี เป็นต้น แต่ในแป้งเหล่านี้ยังคงมีโปรตีนอยู่บ้าง หากต้องจำกัดโปรตีนต่ำมากๆ อาจต้องใช้แป้งปลอดโปรตีน เช่น วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ เพิ่มเติมจากข้าวได้ หรือรับประทานขนมที่ทำจากแป้งปลอดโปรตีนได้ เช่น ซาหริ่ม สาคูเปียก เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานที่เพียงพอ ผู้ป่วยเป็นเบาหวานให้ใช้น้ำตาลเทียมแทน ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ และจำกัดไขมันอิ่มตัวทั้งจากพืชและสัตว์ จำพวก กะทิ น้ำมันปาล์ม มันหมู มันไก่ รวมถึงไขมันทรานส์ เช่น เนยเทียม เนยขาว ที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ประกอบเบเกอรี่ต่างๆ โดยแนะนำให้ใช้น้ำมันกลุ่ม MUFA ในการประกอบอาหาร เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคไตควรจำกัดโซเดียมในอาหาร กรณีความดันโลหิตสูงหรือมีอาการบวม ต้องจำกัดโซเดียมให้น้อยกว่า 2000 มิลลิกรัมต่อวัน (ใช้ซีอิ๊วปรุงอาหารได้ประมาณ 3 ช้อนชาต่อวัน หรือ เกลือ 1 ช้อนชาต่อวัน)
โดยเลี่ยงอาหารที่ปรุงรสเค็มจัด จากการใช้เครื่องปรุงรสต่างๆ รวมถึงอาหารแปรรูป อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง และอาหารกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ไส้กรอก แฮม เบคอน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น โดยเน้นอาหารที่มาจากธรรมชาติมากที่สุด ไม่ผ่านการปรุงแต่งหรือแปรรูป ถ้าหากต้องจำกัดปริมาณโซเดียมต่ำมาก อาจส่งผลให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลง แนะนำให้ใช้เครื่องเทศและสมุนไพรเป็นตัวแต่งกลิ่นอาหาร ให้อาหารน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น เช่น หอมแดง ใบมะกรูด กระเทียม ใบโหระพา ข่า ใบแมงลัก ตะไคร้ ใบสะระแหน่ กระชาย รากผักชี ขิง ผักชี พริกไทยดำ ใบกระวาน อบเชย กานพลู เป็นต้น ส่วนเรื่องของน้ำดื่มที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคไตมากที่สุด คือน้ำเปล่า หรือหากอยากดื่มน้ำสมุนไพร ก็พอดื่มได้บ้าง แต่ต้องไม่หวานจัด เช่น น้ำใบเตย น้ำอัญชัน น้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ เป็นต้น
ปริมาณน้ำขึ้นอยู่กับความเสื่อมของไต หากมีความดันโลหิตสูงหรืออาการบวม ต้องจำกัดน้ำดื่ม ไม่เกิน 700-1,000 ซีซีต่อวัน เพราะความสามารถในการขับปัสสาวะของผู้ป่วยโรคไตจะลดลง หากไม่มีอาการบวม สามารถดื่มน้ำได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังมีข้อปฏิบัติอื่นๆ ได้แก่ งดบุหรี่ (Nicotine เป็น Vasoconstrictor ) , กาแฟ (Caffeine) ระวังมิให้ท้องผูกด้วยยาและอาหาร ถ้ามีอาการท้องผูกขับถ่ายยากจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และยังมีผลต่อโพแทสเซียมอาจทำให้โพแทสเซียมถูกดูดซึมได้มากขึ้น ควรมีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม สม่ำเสมอ และนอนหลับสนิท ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นเหตุให้ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) สูงได้ ส่วนสารอาหารอื่นๆ อาจต้องมีการปรับและควบคุมตามอาการของโรค โดยการไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดเป็นระยะๆ เพราะจะเป็นตัวช่วยบอกว่าควรจำกัดสารอาหารใดบ้าง เช่น หากมีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ต้องหลีกเลี่ยงผักสีเขียวเข้ม หรือสีเหลืองเข้ม เช่น บร็อคโคลี มันฝรั่ง มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง ฟักทอง ผักที่รับประทานได้ เช่น ฟักเขียว บวบ แตงกวา มะเขือยาว เป็นต้น หากมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ต้องหลีกเลี่ยง ไข่แดง (ควรทานแต่ไข่ขาว) นมทุกรูปแบบ ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต เนยแข็ง รวมถึงเมล็ดพืช เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ งดอาหารที่ใช้ยีสต์ เช่น ขนมปังปอนด์ แป้งซาลาเปา หมั่นโถว โดนัท เพราะยีสต์มีฟอสเฟตอยู่มาก งดอาหารที่ใช้ผงฟู เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมหน้าแตก โดนัท หากมีระดับยูริกในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ต้องหลีกเลี่ยงแหล่งอาหารที่มี พิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ทุกชนิด ปีกสัตว์ น้ำสกัดจากเนื้อสัตว์ ยอดผักอ่อนๆ พวกยอดตำลึง ยอดฟักแม้ว ยอดฟักทอง หน่อไม้ฝรั่ง รวมถึงต้องรับประทานอาหารไขมันต่ำด้วย เพราะอาหารไขมันสูงทำให้กรดยูริกขับถ่ายทางปัสสาวะได้ไม่ดี อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยโรคไต ต้องเริ่มปรับพฤติกรรมการบริโภคตั้งแต่ตรวจพบว่าเป็นโรค โดยอาจให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการควบคุมอาหาร รวมถึงการมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อความต่อเนื่องในการวางแผนรักษา หรือการพบนักโภชนาการเพื่อช่วยกันวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อชะลอความเสื่อมของไตและช่วยให้เข้าสู่ระยะฟอกเลือดช้าลงอีกด้วย สุดท้ายนี้การป้องกันการเกิดโรคเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สามารถทำได้โดยการรับประทานอาหารแต่พอดี เลี่ยงหวาน มัน เค็ม หมั่นรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ และตรวจสุขภาพประจำปี แต่หากเกิดโรคแล้ว ก็ควรรู้จักศึกษาโรคที่เป็น และปรับพฤติกรรมที่อาจส่งเสริมให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น ก็ช่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit