ทั้งนี้ไนโตรเจนที่ผลิตใหม่ ๆ จะมีความเย็นจัดถึง -195.8 องศาเซลเซียส (@ 1 atm) และมีอุณภูมิสูงขึ้นเมื่อสัมผัสกับความร้อน ดังนั้นเมื่อทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง จึงระเหยกลับเป็นก๊าซอย่างรวดเร็ว โดยสังเกตเห็นเป็นกลุ่มควันขาว ซึ่งคือไอน้ำที่อยู่ในอากาศบริเวณนั้นเกิดการเปลี่ยนสถานะ เมื่อสัมผัสกับความเย็นจัดจากไนโตรเจนเหลว ด้วยคุณสมบัติของก๊าซไนโตรเจนที่มีความเย็นจัด ไม่ทำปฎิกริยากับสารอื่น รวมถึงไม่มีสีกลิ่นรส จึงนำไปใช้กับอุตสาหกรรม และวงการวิจัยพัฒนาอย่างแพร่หลาย อาทิ การนำไนโตรเจนไปใช้ในกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการไล่ความชื้น แรงดัน หรือใช้ความร้อน ความเย็น ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่ม การแช่แข็งอาหาร การขึ้นรูปพลาสติกและยาง การทำความเย็น การปรับแต่งโลหะ ในขณะที่การวิจัยและพัฒนา นิยมนำไปใช้เป็นสารเก็บรักษา หรือใช้เก็บตัวอย่างทางชีวภาพให้คงสภาพสมบูรณ์ หรือ การใช้คุณสมบัติความเย็นจัดในการทดลองโลหะชนิดต่างๆ เป็นต้น
กระแสการนำไนโตรเจนเหลวมาเติมในอาหาร เพื่อสร้างความแปลกใหม่จากควันของความเย็น เช่น การเติมไนโตรเจนเหลวลงในขนม ก่อนเสิร์ฟให้ผู้บริโภครับประทานทันที หรือการเติมเข้าไปในแก้วเครื่องดื่ม อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการสัมผัสความเย็นจัดจากไนโตรเจนเหลวโดยตรง นอกจากนี้ยังมีประเด็น เรื่องการจัดเก็บไนโตรเจนเหลวไว้ภายในร้าน ซึ่งอาจเป็นห้องติดเครื่องปรับอากาศ หากมีการรั่วไหลหรือสะสมตัวของไนโตรเจน ก็อาจทำให้เกิดภาวะอับอากาศ ต้องมีการระบายอากาศ และเฝ้าระวังระดับออกซิเจนเป็นประจำด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการ ร้านค้า ต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงคุณสมบัติ และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานไนโตรเจนเหลวเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับตนเอง และผู้บริโภค
ดร. วิไลรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม แม้ก๊าซไนโตรเจนจะมีความปลอดภัยสูง แต่คุณสมบัติความเป็นก๊าซ จึงทำให้มีแรงดัน ประกอบกับมีอุณหภูมิเย็นจัด ดังนั้นผู้ที่ใช้งานจึงจำเป็นต้องมีความรู้ ร่วมกับการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่เหมาะสม กล่าวคือ สามารถรองรับอุณภูมิเย็นจัด และแรงดันสูงได้ นอกจากนี้ขณะทำงานที่มีโอกาสสัมผัสไนโตรเจนเหลวโดยตรง ต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสม เช่น ถุงมือกันความเย็นจัด รองเท้านิรภัย แว่นตานิรภัยและกระบังหน้า (Face shield) เป็นต้น ที่ผ่านมาผู้ผลิตในกลุ่มก๊าซอุตสาหกรรม ต่างก็ฝึกอบรมการใช้งานก๊าซอย่างปลอดภัย ให้กับผู้ใช้งานในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และโรงพยาบาลต่าง ๆ แต่ผู้ประกอบการร้านค้า แผงลอย ที่นำก๊าซไนโตรเจนเหลวมาใช้งานโดยตรง ตามสถานที่สาธาณะ จนเป็นภาพข่าวคราวนั้น หากผู้ใช้งานไม่ทราบข้อพึงระวัง หรือวิธีปฎิบัติงานอย่างปลอดภัย เมื่อนำไปใช้อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือขาดการควบคุม ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง หรือผู้บริโภคได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit