อธิบดีกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในจังหวัดนครศรีธรรมราช

16 Dec 2016
นายแพทย์เจษฏา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ประสบอุทกภัย ในจังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างขวัญและกำลังใจ แก่เจ้าหน้าที่ โดยตรวจเยี่ยมสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วมโรงเรียนเสมาเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีนายแพทย์บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช นายพงศ์สินธุ์ เสนพงค์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครศรีธรรมราช นายชิษณุพงศ์ สุวรรณ รองปลัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและคณะ เป็นผู้รับการตรวจเยี่ยม และได้สนับสนุนรองเท้าบู้ท ยาทากันยุง ยาและเวชภัณฑ์มิใช่ยา ให้แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เทศบาลนครนครศรีธรรมราช และประชาชนศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วมโรงเรียนเสมาเมืองนพ.เจษฎา กล่าวว่า จากภาวะอุทกภัยทำให้ประชาชนแช่น้ำ และต้องอพยพมาที่ศูนย์พักพิงหลายๆพื้นที่ จึงควรระมัดระวังตนเองและเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพทีมากับน้ำท่วม ระวังเรื่องไฟฟ้าดูด สัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง การปฐมพยาบาลที่ถูกต้องและส่งโรงพยาบาลทันท่วงที ระวังโรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ แนะนำกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ทั้งนี้หลังจากน้ำท่วมจะทำให้มียุงตามมา ซึ่งต้องเฝ้าระวังและรณรงค์โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ โรคปวดข้อยุงลาย โดยใช้การรงค์ 3 เก็บคือ เก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้ยุงเกาะพัก เก็บขยะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และเก็บน้ำ ไม่ให้ยุงวางไข่ทำติดต่อทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปี และให้ป้องกันตนเอง อย่าแช่น้ำนาน อาจทำให้น้ำกัดเท้า ซึ่งเสี่ยงกับโรคเลปโตสไปโรซิส
อธิบดีกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในจังหวัดนครศรีธรรมราช

แพทย์หญิงศิริลักษณ์ ไทยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เผย สถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 1-6 ธันวาคม 2559 ในพื้นที่เขต11 มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร และระนอง รวม 46 อำเภอ 302 ตำบล 2,192 หมู่บ้าน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหาย ที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี จำนวน 4 ราย และจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 5 ราย ซึ่งสาเหตุเกิดจากการจมน้ำ พลัดตกน้ำ และออกหาปลากลางทะเล ทางสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เตรียมความพร้อมรับอุทกภัย ทั้งระยะก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ โดยมีทีม เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์โรค และพยากรณ์อากาศ เตรียมทีมปฏิบัติการสอบสวน และควบคุมโรค สำรอง ยาและเวชภัณฑ์มิใช่ยา และได้มีการสื่อสารความเสี่ยง ความรู้เรื่องโรคและภัยสุขภาพที่มากับ น้ำท่วม และหลังน้ำลด ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ทั้งสื่อออนไลน์ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสนับสนุนแผ่นพับให้กับเครือข่ายประชาสัมพันธ์