ส่องธุรกิจรับสร้างบ้าน 5 ปีย้อนหลัง

13 Dec 2016
หากมองย้อนกลับสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญและส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ปี 2554 ได้เกิดวิกฤติน้ำท่วมประเทศไทยครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อหลายๆ ภาคธุรกิจ ทั้งภาคอุตสาหกรรมรถยนต์และภาคการเกษตร ฯลฯ สามารถกล่าวได้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจประเทศถึงกับชะงักงัน ตัวเลข GDP ปรับตัวลดลงกระทั่งติดลบ
ส่องธุรกิจรับสร้างบ้าน 5 ปีย้อนหลัง

ถัดมาในปี 2555 ทิศทางเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น ภาคธุรกิจมีการปรับปรุงและซ่อมบำรุงสถานประกอบการขนานใหญ่ วัสดุก่อสร้างและแรงงานขาดแคลนอย่างหนักจนเกิดการแย่งชิงกัน ในขณะที่ภาครัฐก็เริ่มโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดโครงการประชานิยม อาทิ โครงการจำนำข้าว รถยนต์คันแรก ฯลฯ

ผลจากวิกฤติน้ำท่วมทำให้เกิดกระแสความต้องการบ้านหรือที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค อาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมขายดีและเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงบ้านหลังที่ 2 หรือบ้านสำรองฉุกเฉินในต่างจังหวัดก็ได้รับความนิยมจากคนชั้นกลางและผู้มีฐานะดี ดีเวลอปเปอร์รายใหญ่ทุกค่ายต่างแห่ผุดโครงการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดรองรับกระแสความต้องการและกำลังซื้อ

ในขณะที่ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่นับได้ว่าเป็นกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ตกอยู่ในสภาพตั้งรับเพราะไม่อาจสู้รายใหญ่ เพื่อแข่งขันแย่งชิงวัสดุและแรงงานมาได้ การส่งมอบงานล่าช้ากว่าสัญญาและโดนผู้ว่าจ้างปรับเงิน หลายๆ ขาดสภาพคล่องและประสบปัญหาขาดทุนไปตามๆ กัน

ปี 2556 รัฐบาลบังคับใช้การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ หันมาเร่งขยายการลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น อาทิ ห้างสรรพสินค้า ค้าปลีกหรือโมเดิร์นเทรด บ้านจัดสรร อาคารชุด และรับสร้างบ้าน ฯลฯ แต่ด้านการเมืองปีนี้รัฐบาลเริ่มถูกต่อต้านจากกลุ่มคู่แข่งทางการเมืองและชนชั้นกลาง ส่งผลให้สถานะรัฐบาลเริ่มสั่นคลอน

ในขณะเดียวกันด้านเศรษฐกิจกับเผชิญปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวลดลงโดยเฉพาะยางพารา ทำให้นักการเมืองและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก

วิบากธุรกิจรับสร้างบ้านรอบใหม่

ปี 2557 เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจถดถอยและผลกระทบจากปัญหาการเมืองในประเทศ ที่มีการชุมนุมประท้วงและนำไปสู่การัฐประหาร โครงการประชานิยมต่างๆ จากรัฐบาลก่อนถูกรัฐบาลใหม่ยกเลิกโดยพลัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคเอกชนเป็นอย่างมาก ในส่วนของธุรกิจรับสร้างบ้านก็เข้าสู่โหมดชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจอีกครั้ง ปี 2558 ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ภาคการเกษตรต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งรุนแรง ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรกลับตกต่ำ กำลังซื้อผู้บริโภคและประชาชนลดลง ประเทศไทยถูกกดดันและถูกตัดสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากนานาประเทศ อันเนื่องมาจากผลทางการเมืองและการปกครองประเทศ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ยานยนต์ อิเล็คโทรนิค เริ่มทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และประชาชนเริ่มเกิดภาวะว่างงาน ตัวเลข GDP ถดถอยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทางด้านการเมือง รัฐบาลคสช.ประกาศเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากโรดแมบเดิมที่วางไว้ โดยในช่วงท้ายปีได้ปรับท่าทีหันมากระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ในฟากธุรกิจรับสร้างบ้าน ความต้องการและกำลังซื้อผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กถอยออกไปจากธุรกิจ รายกลางรายใหญ่ทำได้แค่ประคองตัว

ปี 2559 แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล ทั้งราคายางพารา ปาล์ม และข้าว ฯลฯ กระทั่งเกิดกระแสชาวนารวมตัวกัน นำข้าวออกมาขายให้ประชาชนเองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และทำให้รัฐบาลต้องรีบหาทางออกด้วยโครงการรับซื้อข้าวและจ่ายเงินช่วยเหลือ ก่อนที่เรื่องข้าวจะลุกลามกลายเป็นประเด็นทางการเมือง ในขณะที่แรงกดดันทางการเมืองจากนานาประเทศเริ่มเบาลง จากการโรดแมบการนำประเทศกลับสู่การเลือกตั้งและการปกครองแบบประชาธิปไตย รวมทั้งการแก้ปัญหาเรื่องค้ามนุษย์และอื่นๆ ของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ปีนี้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ กลับต้องตกอยู่ในอาการช็อคและเศร้าเสียใจครั้งใหญ่ จากเหตุการณ์สวรรคตขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในช่วงท้ายปีทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับการแสดงความไว้อาลัย มากกว่าเรื่องของเศรษฐกิจและการเมือง นอกจากนี้ในพื้นที่ภาคใต้ก็เกิดฝนตกหนักติดต่อกัน จนประสบปัญหาน้ำท่วมขังและประชาชนได้รับความเดือดร้อนในหลายๆ จังหวัด

สรุป

สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association : THBA) ประเมินในส่วนของธุรกิจรับสร้างบ้าน ปี 2559 นี้ยังคงเผชิญกับปัญหาความต้องการและกำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัว ผู้ประกอบการหลายๆ รายเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด รายใหญ่บางรายมีการปรับลดจำนวนสาขาเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่บางรายก็ดิ้นขยายสาขาเพื่อหาทางเปิดตลาดกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ ตามแนวคิดและกลยุทธ์ของแต่ละรายที่แตกต่างกันไป

ภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในรอบ 5 ปีและในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการต้องเผชิญกับปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจเป็นระยะๆ จริงอยู่ที่ภาคธุรกิจอื่นๆ ก็เผชิญสถานการณ์ไม่ต่างกัน แต่ด้วยสินค้า "บ้าน" นั้นมีราคาสูงและมิได้มีการซื้อซ้ำบ่อยๆ หากเปรียบเทียบกับ "รถยนต์" ที่ราคาสูงพอๆ กัน แต่มีโอกาสซื้อซ้ำมากกว่าและที่สำคัญผู้ประกอบการเป็นทุนขนาดใหญ่ ขณะที่ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านนั้นจัดเป็นเอสเอ็มอี เงินทุนหรือสายป่านไม่ยาว เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวหรือกำลังซื้อผู้บริโภคถดถอย การจะฝ่าสถานการณ์ให้รอดพ้นจึงยากลำบาก ฉะนั้น การปรับตัวของผู้ประกอบการจึงเป็นสิ่งจำเป็นและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงให้ทัน ทั้งในด้านการตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค เทคโนโลยีก่อสร้าง ตลอดจนการแข่งขันในธุรกิจเดียวกันและธุรกิจใกล้เคียงหรือทดแทนกันได้

ทิศทางธุรกิจรับสร้างบ้านปี 2560

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า เมื่อพิจารณาปัจจัยรอบด้านแล้ว ปี 2560 คาดว่าปริมาณและมูลค่าตลาดบ้านสร้างเองมีแนวโน้มยังทรงตัวต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8 หมื่น - 1 แสนล้านบาทเศษ ที่ผ่านมากลุ่มผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป ครองส่วนแบ่งตลาดบ้านสร้างเองเป็นส่วนใหญ่หรือกว่า 80% ของมูลค่าตลาดรวม ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่พัฒนารูปแบบการให้บริการแบบครบวงจรหรือแบบวันสต็อปเซอร์วิส ที่เรียกตัวเองว่า "บริษัทรับสร้างบ้านหรือศูนย์รับสร้างบ้าน" จำนวน 200 รายเศษทั่วประเทศ (แต่จำนวนไม่น้อยยังขาดความพร้อมและความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง) มีแชร์ส่วนแบ่งตลาดไม่ถึง 20% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.3 - 1.4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

ด้วยรูปแบบของการจัดการและการให้บริการแบบครบวงจรหรือวันสต็อปเซอร์วิส ไล่เรียงตั้งแต่การให้คำปรึกษาก่อนตัดสินใจ การออกแบบทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม การบริหารและควบคุมการก่อสร้าง การคัดเลือกหรือจัดหาวัสดุและแรงงาน เป็นตัวแทนติดต่อประสานงานเพื่อขออนุญาตต่างๆ กับหน่วยงานราชการ บริการติดต่อขอใช้สาธารณูปโภคกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อำนวยความสะดวกและประสานงานกับสถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อ รวมถึงการรับประกันและซ่อมบำรุงภายหลัง ฯลฯ

กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านหรือศูนย์รับสร้างบ้าน จึงเลือกใช้วิธีการรับจ้างสร้างบ้านจากผู้บริโภคที่เรียกว่าระบบเทรินคีย์ (TURN-KEY) หรือ "การจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ" โดยลักษณะเทิร์นคีย์จะคล้ายกับการรับจ้างในลักษณะทั้งออกแบบ-ก่อสร้าง ถือเป็นการพัฒนาหรือผลิตสินค้าจนแล้วเสร็จในสภาพพร้อมใช้งาน ซึ่งแตกต่างกับการรับจ้างหรือรับเหมาก่อสร้างปกติ ที่จะเน้นเฉพาะปริมาณหรือเนื้องานก่อสร้างตามต้นทุนค่าวัสดุ ค่าแรง และค่าดำเนินการเป็นสำคัญ ผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านส่วนใหญ่ จึงไม่เลือกใช้วิธีรับจ้างในลักษณะการประมูลหรือเสนอราคาแข่งขันเหมือนผู้รับเหมาทั่วไป ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภคที่ไม่ต้องการยุ่งยาก ติดต่อหรือว่าจ้างผู้รับจ้างหลายๆ ฝ่าย ได้แก่ ว่าจ้างออกแบบ ว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง ว่าจ้างที่ปรึกษาและควบคุมงาน ว่าจ้างออกแบบและตกแต่ง ว่าจ้างจัดสวน ว่าจ้างสร้างสระว่ายน้ำ ฯลฯ เป็นต้น สมาคมฯ คาดว่าผู้ประกอบการรับสร้างบ้านมืออาชีพ ยังคงดำเนินธุรกิจไปในทิศทางดังกล่าวเหมือนเดิม ภายใต้แรงกดดันจากหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการควบคุมธุรกิจนี้

มุมมองนายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน

นายสิทธิพร กล่าวอีกว่า นโยบายภาครัฐยุครัฐบาลคสช.ในปัจจุบัน ประกาศเดินหน้าประเทศไทยสู่เศรษฐกิจ 4.0 โดยมุ่งสู่การสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีทันสมัย ดีไซน์ และธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มบริการและสินค้าไทย ธุรกิจรับสร้างบ้านถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่ายกระบวนการออกแบบหรือดีไซน์ สร้างสรรค์แนวคิดการอยู่อาศัยในรูปแบบใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากว่าหน่วยงานภาครัฐ จะพยายามที่จะบังคับและควบคุมผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน จนไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้และหมายถึงทางเลือกของผู้บริโภคก็ย่อมถูกจำกัดลง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ประกอบการรับสร้างบ้านคงจะรีบทำความเข้าใจกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือต่อสู้กันทางความคิดและแนวทางของกฎหมายที่จะบังคับใช้ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะกฎกติกาใหม่ที่หน่วยงานภาครัฐจะบังคับใช้ คาดว่าจะส่งผลกระทบกับผู้รับเหมารายย่อยมากกว่า และอาจเป็นไปได้ว่ารายย่อยจะไม่สามารถประกอบอาชีพรับสร้างบ้าน กับผู้บริโภคได้โดยตรงและถูกกฎหมาย ฉะนั้นในปี 2560 มองปัจจัยเป็นลบก็เห็นวิกฤติ มองปัจจัยเป็นบวกก็เห็นโอกาส ขึ้นอยู่ที่มุมมองและการปรับตัวของผู้ประกอบการแต่ละรายภายใต้กฎกติกาเดียวกัน

ในส่วนของกิจกรรมทางการตลาดเมื่อเปิดศักราชใหม่ 2560 สมาคมฯ เตรียมพร้อมจัดงานมหกรรมบ้านและวัสดุก่อสร้าง 2560 หรือ Thailand Home & Building Material Fair 2017 ขึ้นในระหว่างวันที่ 25-29 มกราคม 2560 ณ เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 3-4 อิมแพคเมืองทองธานี ซึ่งถือเป็นงานบ้านและวัสดุงานแรกแห่งปี ภายในงานฯ จะประกอบด้วยบูธแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการในแวดวงอสังหาฯ รับสร้างบ้าน วัสดุก่อสร้าง สถาบันการเงินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง สมาคมฯ เชื่อมั่นว่าจะกิจกรรมครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ รับสร้างบ้าน และอื่นๆ รวมทั้งกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคให้มีการลงทุนและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ส่องธุรกิจรับสร้างบ้าน 5 ปีย้อนหลัง ส่องธุรกิจรับสร้างบ้าน 5 ปีย้อนหลัง