นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับการแข่งขัน ACM International Collegiate Programming Contest (ACM - ICPC) เป็นการแข่งขันการเขียนโปรแกรมสำหรับอุดมศึกษาในระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงที่สุด แบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ลำดับคือ Local Contest หรือการแข่งขันระดับประเทศ ซึ่งซิป้าได้เริ่มทำการส่งเสริมการแข่งขันดังกล่าวตั้งแต่ปี 2552 เริ่มแรกได้รับความร่วมมือจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้ในปีต่อมามีการจัดแข่งขันโดยตัวแทนจากมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่าง ๆ คือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้การจัดการแข่งขันกระจายครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้นและในปี 2555 ซิป้าได้เพิ่มศูนย์การแข่งขันในเขตภาคกลางอีกแห่ง เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนเกี่ยวกับด้านนี้เป็นจำนวนมาก โดยทีมที่ผ่านการแข่งขันในระดับภูมิภาคก็จะมีโอกาสเข้าแข่งในระดับประเทศเพื่อหาตัวแทนเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติหรือ Regional Contest และผู้ที่ผ่านการแข่งขันในระดับนี้ก็จะได้เป็นตัวแทนไปแข่งระดับโลกหรือ World Finals ต่อไป อย่างไรก็ดีในระหว่างการเก็บตัวเพื่อไปแข่งระดับ Regional Contest ซิป้ายังได้เตรียมความพร้อมเยาวชนที่เป็นตัวแทนทั้งหลายเข้าโครงการ Boost Up camp เพื่อฝึกฝนและเพิ่มความชำนาญก่อนแข่งขัน
ทั้งนี้ที่ผ่านมาเป้าหมายในการสนับสนุนการแข่งขัน ACM - ICPC ของซิป้าเพื่อส่งเสริมและสร้างทักษะ ความสามารถในการเขียนโปรแกรม ความรู้ด้านอัลกอริทึม ของนิสิตนักศึกษา และสร้างกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเพราะเราถือเป็นหน่วยงานแรกที่ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และนอกจากนี้การสนับสนุนตั้งแต่ระดับภูมิภาค ก็เพื่อเตรียมความพร้อมของเยาวชนไทย ในการเข้าแข่งขันระดับนานาชาติและเพิ่มโอกาสให้เยาวชนของเรามีโอกาสเข้าสู่รอบ World Final ต่อไปและนอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเวที ให้เกิดนักเขียนโปรแกรมรุ่นใหม่ของประเทศที่มีคุณภาพ เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นภารกิจหลักของซิป้า
"ซิป้ามีความหวังว่าเยาวชนไทยจะประสบความสำเร็จในรอบ World Final ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2560 และเชื่อว่าความสำเร็จในปีนี้ เป็นก้าวสำคัญที่จะผลักดันให้เยาวชนไทยหันมาพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อการแข่งขันในระดับนานาชาติและสร้างแรงบันดาลใจว่าเยาวชนไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่น โดยเวทีเหล่านี้เป็นสนามเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อช่วยสร้างบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ไทยที่มีคุณภาพต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจหลักสำคัญของซิป้าที่ต้องการพัฒนาบุคลากรด้านนี้ให้เข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และจะเป็นส่วนสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล"นายฉัตรชัยกล่าว
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ สุรฤกษ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ดูแลนิสิตทีมจุฬาลงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ซิป้าได้ให้การสนับสนุนการแข่งขัน ACM – ICPC มาตลอด และเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ โดยที่ผ่านมาซิป้าได้สนับสนุบการจัดการแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ นอกจากนี้ได้สนับสนุนทุนในการไปแข่งขันระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นการสร้างสนามให้เด็กๆได้ฝึกฝน โดยเป็นปัจจัยสำคัญให้ครั้งนี้ประเทศไทยได้รับรางวัลกลับมา เพราะการแข่งขัน ACM – ICPC นั้น ผู้แข่งขันจะต้องเขียนโปรแกรมแก้ไขปัญหาโจทย์ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และอัลกอริทึม ภายในเวลาที่จำกัด การที่จะชนะได้ต้องได้รับการฝึกฝนและอาศัยความชำนาญในการแก้โจทย์ที่ซับซ้อน ดังนั้นการมีเวทีเช่นนี้ก็เป็นส่วนที่ทำให้เด็กๆ เยาวชนไทยสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองได้และที่สำคัญจากการแข่งขันในทุกปี สังเกตได้ว่าผู้สมัครเข้าร่วม ให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความสามารถมากขึ้นตาม นอกจากนี้เยาวชนหลายคนเริ่มหันมาสนใจเรียนการเขียนโปรแกรมมากขึ้นเนื่องจากคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องใกล้ตัว ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเร่งพัฒนาและสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวเพื่อสร้างบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ให้มีศักยภาพ พร้อมผลิตซอฟต์แวร์ไทยเพิ่มมากขึ้นจนสามารถส่งออกได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit