วาระอนุมัติกรอบหลักการเบื้องต้นในการคำนวณลดค่าปรับทางปกครองกรณีผู้ให้บริการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายและขยายระยะเวลาในการปฏิบัติงานของคณะทำงานพิจารณาทบทวนค่าปรับทางปกครอง
วาระนี้สืบเนื่องจากสำนักงาน กสทช. ตรวจสอบพบว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคม 3 ราย ได้แก่ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค, บจ. ดีแทค ไตรเน็ต, และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่และเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการ โดยมีการโอนย้ายผู้ใช้บริการทั้งที่ผู้ใช้บริการไม่ได้แสดงความประสงค์ขอโอนย้าย ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้เคยมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนและปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 เลขาธิการ กสทช. จึงได้มีคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครอง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 66 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กำหนดให้ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 11,801,567 บาท นับแต่วันที่พ้นกำหนดวันแจ้งเตือนจนถึงช่วงเวลาสิ้นสุดการกระทำฝ่าฝืน จำนวน 41 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 483,864,247 บาท ส่วน บจ. ดีแทค ไตรเน็ต ต้องชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 6,156,184 บาท จำนวน 17 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 104,655,128 บาท และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ต้องชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 169,244 บาท จำนวน 44 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,446,736 บาท
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่เลขาธิการ กสทช. มีคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครอง ผู้ให้บริการทั้งสามรายก็ได้ยื่นอุทธรณ์ สำนักงาน กสทช. จึงได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 13/2559 เพื่อพิจารณา ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น มีกรรมการบางท่านเห็นว่าอัตราค่าปรับทางปกครองที่สำนักงาน กสทช. คำนวณนั้นสูงเกินไป โดยมองว่าในการกำหนดค่าปรับต้องพิจารณาว่าเป็นความผิดร้ายแรงและกระทบต่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่ รวมทั้งจำนวนเลขหมายที่นำมาคิดคำนวณนั้นใช้หลักเกณฑ์ใด ที่ประชุมจึงมีมติให้นำเรื่องนี้กลับไปสอบถามความเห็นของ กทค. ทุกท่านอีกครั้ง ซึ่งต่อมาในการประชุม กทค. ครั้งที่ 17/2559 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 กทค. เสียงข้างมากก็ได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นมาเพื่อพิจารณาทบทวนคำสั่งกำหนดจำนวนค่าปรับทางปกครองใหม่
สำหรับวาระที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอให้ กทค. พิจารณาในการประชุมครั้งนี้ เป็นเรื่องการขอขยายระยะเวลาในการปฏิบัติงานของคณะทำงานฯ ออกไปอีก 60 วัน ซึ่งจะทำให้มีผลครบกำหนดการปฏิบัติงานในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 พร้อมทั้งมีการนำเสนอกรอบหลักการเบื้องต้นในการคำนวณค่าปรับทางปกครองให้ กทค. พิจารณาลงมติเห็นชอบด้วย ซึ่งกรอบดังกล่าวแตกต่างจากกรอบเดิม โดยจะมีการปรับสูตรคำนวณขนาดของปัญหาและอัตราค่าปรับทางปกครองสูงสุดต่อวัน ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าจำนวนค่าปรับทางปกครองที่คำนวณได้จะลดลงอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ กทค. เสียงข้างมากต้องอธิบายต่อสาธารณะให้ได้ถึงเหตุผลว่าทำไมจึงต้องปรับลดค่าปรับทางปกครอง จำนวนค่าปรับเดิมไม่มีความเหมาะสมอย่างไร เพราะก็เป็นการคำนวณค่าปรับที่มีการกำหนดวิธีคิดเป็นหลักเกณฑ์ของสำนักงาน กสทช. ไว้แล้ว รวมทั้งหลักเกณฑ์และสูตรคำนวณใหม่ที่จะมีการกำหนดขึ้นต่อไปนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร และมีความสมเหตุสมผลมากน้อยเพียงใด เพราะสิ่งที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอมาในวาระนี้เป็นเพียงหลักการกว้างๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนและขาดรูปธรรม เป็นเสมือนการตั้งเป้าหมายที่จะปรับลดจำนวนค่าปรับทางปกครองเท่านั้น
อนึ่ง ปัญหาการโอนย้ายผู้ใช้บริการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขบริการคงสิทธิเลขหมายนั้น เป็นประเด็นที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยมีหนังสือทวงถามให้ กทค. และสำนักงาน กสทช. ตรวจสอบข้อมูลและทบทวนบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแล เพราะการดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวกระทบต่อส่วนแบ่งรายได้สัญญาที่ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคมควรได้รับ ซึ่งเป็นคู่สัญญาร่วมการงานกับทั้งสามบริษัทฯ นอกจากนี้ ยังเป็นกรณีปัญหาที่สังคมเคลือบแคลงสงสัยมาตลอดว่าองค์กรกำกับดูแลหย่อนยานและเอื้อประโยชน์ผู้ประกอบกิจการหรือไม่ เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ระบุว่าตรวจสอบพบปัญหานี้มาตั้งแต่กลางปี 2557 และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบกิจการปรับปรุงแก้ไขมาแล้วหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถบังคับให้ผู้ฝ่าฝืนปรับปรุงแก้ไขได้ จนกระทั่งมีคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครอง แต่ในภายหลังก็กลับมีความพยายามลดจำนวนค่าปรับด้วยการตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นมาปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ โดยที่การดำเนินการก็เป็นไปอย่างล่าช้า มีการขอขยายระยะเวลาทำงานเพิ่มถึง 2 เดือนดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
วาระรายงานการอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง
วาระนี้เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอรายงานการอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองให้ที่ประชุม กทค. รับทราบ โดยปัจจุบัน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2559 มีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองจำนวนทั้งสิ้น 491 ใบอนุญาต แบ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 290 ใบอนุญาต และผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต 201 ใบอนุญาต ทั้งนี้ ประเภทบริการที่มีผู้ให้บริการสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บริการอินเทอร์เน็ตจำนวน 196 ราย, บริการ GPS Tracking จำนวน 130 ราย, บริการ Resale วงจรเช่าจำนวน 60 ราย, บริการ ICC จำนวน 52 ราย, และบริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ Reseller และ MVNO จำนวน 43 ราย
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่มีการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง พบว่ามีการสิ้นสุดใบอนุญาตทั้งสิ้น 166 ใบอนุญาต โดยสาเหตุของการสิ้นสุดใบอนุญาตส่วนใหญ่มาจากการขอยกเลิกการให้บริการด้วยตนเอง จำนวน 93 ใบอนุญาต, ขาดการต่ออายุหรือทิ้งใบอนุญาตจำนวน 50 ใบอนุญาต และเป็นผู้รับใบอนุญาตที่มีการเปิดให้บริการและไม่ชำระค่าธรรมเนียมจำนวน 9 ใบอนุญาต
นอกจากนี้ ยังมีข้อน่าสังเกตด้วยว่า เฉพาะในปี 2559 นี้ มีการออกใบอนุญาตไปแล้วกว่า 144 ใบอนุญาต เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 78 ใบอนุญาต หรือเพิ่มขึ้น 118% สาเหตุเนื่องจากมีผู้ประกอบการในธุรกิจเคเบิ้ลทีวีให้ความสนใจในการให้บริการอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก และกรมการขนส่งทางบกได้มีข้อกำหนดให้ผู้ให้บริการระบบติดตามระบบติดตามระต้องจัดส่งภาพถ่ายในอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้กรมการขนส่งทางบกด้วย ส่งผลให้มีผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่งและใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบที่หนึ่งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit