ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นำนักวิจัยเข้าร่วมการประกวดและจัดแสดงนิทรรศการ ในเวทีประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ "Seoul International Invention Fair 2016" (SIIF 2016) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-4 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีผลงานจากนักวิจัยและนักประดิษฐ์จากทั่วโลกและไทย จำนวนมากกว่า 600 ผลงาน จาก 31 ประเทศ โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลได้ครบทั้ง 6 ชิ้นงานที่ส่งเข้าประกวด ทั้งนี้ สำหรับผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่ มธ. ร่วมส่งเข้าประกวด มีดังต่อไปนี้
1. รางวัลเหรียญทอง (Gold Prize) ประกอบด้วย
· นวัตกรรม "การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์สำหรับการรักษาก้อนมะเร็งด้วยเลเซอร์" ซอฟแวร์จำลองการกำจัดก้อนมะเร็งด้วยความร้อนจากพลังงานเลเซอร์ที่ไม่ทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง โดยสามารถเลือกทำให้เกิดความร้อนขึ้นเฉพาะจุดหรือภายในก้อนมะเร็งด้วยการเติมอนุภาคนาโน เพื่อให้ความร้อนเกิดขึ้นเฉพาะจุดหรือภายในก้อนมะเร็ง พร้อมทั้งคาดการณ์การกระจายตัวความร้อนในชั้นเนื้อเยื่อตับและก้อนมะเร็งที่ถูกทำลายจากการรักษาที่สภาวะทดสอบต่างๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกจากการรักษาจริงในร่างกายผู้ป่วย นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ยังได้รับรางวัลเหรียญทองจากงานประกวดประเทศอื่น รวมไปถึงได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลกอีกด้วย ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดย นางสาวพัชราภรณ์ วงศ์ชาดากุล นักศึกษาระดับปริญญาเอก จากสาขาวิศวกรรมทางการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์
· นวัตกรรม "การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์สำหรับการแทรกซึมของเนื้อครีมผ่านชั้นผิวหน้า ขณะป้อนคลื่นอัลตราโซนิค" ซอฟแวร์จำลองการแทรกซึมของเนื้อครีมผ่านชั้นผิวหน้า โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการซึมผ่านด้วยคลื่นอัลตราโซนิคที่เกิดอันตรกิริยากับฟิล์มบางของเนื้อครีมที่ทาที่ชั้นผิวหน้า ก่อนจะแทรกซึมเข้าไปในชั้นผิวหนังที่หน้าที่พิจารณาเป็นวัสดุพรุน เพื่อสำรวจและคาดการณ์ลักษณะการกระจายตัวของความเข้มข้นของเนื้อครีมที่แทรกซึมผ่านชั้นผิวหน้า ในกระบวนการรักษาและฟื้นฟูผิวหน้า (HIFU - High Intensity Focused Ultrasound) ที่เหมาะสมกับสภาพผิวของแต่ละบุคคลก่อนทำการรักษาจริง นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ยังได้รับรางวัล Special Prize on Stage จากMinistry of Education and Science of the Russian Federation ประเทศรัสเซีย ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดย นางสาวเปรมปรียา มณเฑียรทอง นักศึกษาระดับปริญญาเอก จากสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์
2. รางวัลเหรียญเงิน (Silver Prize) ประกอบด้วย
· นวัตกรรม "ถุงห่อชมพู่ หวานแน่ กรอบนาน" ถุงห่อผลไม้แบบ active bagging สำหรับห่อผลไม้เขตร้อน หรือกึ่งร้อน เพื่อการส่งออกหรือวางขายในท้องตลาด ที่จะช่วยเร่งสีชมพู่ทับทิมจันทร์ให้มีผิวสีแดงสดสวย มันวาว รสชาติหวานกรอบ และมีเนื้อขาวอมชมพูกว่าชมพู่ที่ห่อด้วยถุงปกติ อีกทั้งยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้นานถึง 10 ปี เพียงนำมาล้างและผึ่งให้แห้งหลังการใช้งาน นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ยังได้รับรางวัล Special award จากประเทศอียิปต์ ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดย รองศาสตราจารย์ วรภัทร ลัคนทินวงศ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· นวัตกรรม "ลดความเสี่ยงจากการทำเลเซอร์ผิวเพื่อความงาม" แบบจำลองเชิงคอมพิวเตอร์สำหรับการบำบัดเชิงความร้อนด้วยเลเซอร์ในชั้นเนื้อเยื่อมนุษย์ ที่ช่วยให้แพทย์สามารถคาดการณ์หรือพยากรณ์จุดความร้อน และการยืดหดของเนื้อเยื่อที่จะเกิดขึ้นในชั้นผิวหนังได้ล่วงหน้าก่อนที่จะทำการรักษาจริงและเหมาะสมกับสภาพผิวของแต่ละบุคคล เพื่อให้คนไข้ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และปลอดภัยมากที่สุด รวมทั้งลดผลข้างเคียงจากการรักษาอันเนื่องมาจากระดับพลังงานที่ไม่เหมาะสม อาทิ รอยไหม้ซึ่งอาจก่อให้เกิดแผลเป็นในภายหลัง รวมถึงการยืดหดของผิวหนังส่งผลต่อการเจ็บปวดขณะรักษา นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ยังได้รับรางวัล Special prize on stage จาก The Ministry of Education and Science of Russian Federation ประเทศรัสเซีย ผลงานวิจัยชิ้นนี้ยังเคยได้เหรียญรางวัลจากงานประกวด ณ กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ และยังได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลกซึ่งคิดค้นและพัฒนา โดย นางสาวพัชราภรณ์ วงศ์ชาดากุล นักศึกษาระดับปริญญาเอก จากสาขาวิศวกรรมทางการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์
3. รางวัลเหรียญทองแดง (Bronze Prize) ประกอบด้วย
· ผลิตภัณฑ์ "แยมไรซ์เบอร์รี่" (Riceberry Jam) ผลิตภัณฑ์แยมจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ รสชาติเข้มข้น หวานมัน ช่วยเสริมพลังงานระหว่างวัน สามารถทานคู่ขนมปัง ผลไม้ หรือเครื่องดื่มได้หลากหลาย พร้อมแฝงคุณประโยชน์ครบครันทั้งแอนโทไซยานินจากข้าวไรซ์เบอรร์รี่และอินูลินจากน้ำเชื่อมพรีไบโอติกจากแก่นตะวัน ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง และต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ยังได้รับรางวัลพิเศษ The Inventor of Agri-Green Invention จากประเทศการ์ตา ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดย ดร.สุธีรา วัฒนกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ผลิตภัณฑ์ "ไก่ยอเพื่อสุขภาพ" ไก่ยอปรุงสุกพร้อมทาน ปราศจากไขมันสัตว์ ยืดอายุได้นานกว่า 4 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น ด้วยเทคนิคการใช้หนังไก่บดละเอียดทดแทนไขมัน และใช้โปรตีนถั่วเหลืองสกัดทดแทนฟอสเฟตบางส่วนบรรจุสุญญากาศในถุงรีทอร์ทเพาช์ชนิดใสที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ พร้อมกับนำไปผ่านกระบวนปรุงสุก และฆ่าเชื้อระดับสเตอริไรซ์ โดยปราศจากการใช้สารกันเสีย ตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองที่มีไลฟ์สไตล์รีบเร่ง แต่ต้องการผลิตภัณฑ์อาหารที่อยู่ท้องและมีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ยังได้รับรางวัลพิเศษ Excellent Achievement จาก Malaysian Association of Research Scientists (MARS) ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประภาศรี เทพรักษา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร และนางสาว กรรวี พิสันเทียะ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังกล่าว มีครบเครื่องทั้งส่วนงานนวัตกรรมเชิงซอฟท์แวร์ที่ต่อยอดมาจากงานวิจัยพื้นฐานที่เคยส่งตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำระดับโลก และงานนวัตกรรมที่ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ มธ. มุ่งดำเนินนโยบายใน 3 ด้านหลัก อันได้แก่ การส่งเสริมการวิจัย ความเป็นนานาชาติ และการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ซึ่งจากผลสำเร็จดังกล่าว นับเป็นการสะท้อนศักยภาพด้านบุคลากรและองค์ความรู้ไทย ในการก้าวสู่ศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอาเซียนในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมา มธ. มีผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวทีระดับโลกและระดับประเทศ ปีละไม่ต่ำกว่า 100 รางวัล อีกทั้งยังมีผลงานที่ได้รับการยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรเพิ่มมากขึ้นถึง 100%
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440 (ศูนย์รังสิต) หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th