นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินการจัดทำข้อมูลต้นทุนการผลิตและผลตอบแทน เพื่อสนับสนุนโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) ปี 2560 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 จังหวัดนครสวรรค์ (สศท.12) ได้จัดทำข้อมูลต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนของสินค้าเกษตรในพื้นที่จังหวัดพิจิตร และอุทัยธานี โดยจัดเก็บข้อมูลต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนสินค้าการเกษตร ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังโรงงาน อ้อยโรงงาน มะนาว ส้มโอ และเป็ดไข่
ผลการสำรวจต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร จังหวัดพิจิตร พบว่า ข้าวนาปี มีต้นทุนการผลิต ในพื้นที่เหมาะสม 4,293 บาทต่อไร่ หรือ 5,610 บาทต่อตัน ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม 4,287 บาทต่อไร่ หรือ 6,040 บาทต่อตัน ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตในพื้นที่เหมาะสมมากกว่าในพื้นที่ไม่เหมาะสม 6 บาทต่อไร่ เนื่องจากในพื้นที่เหมาะสมมีการลงทุน ค่าปุ๋ย ค่ายา และค่าน้ำมันที่มากกว่า อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตต่อผลผลิตในพื้นที่เหมาะสมน้อยกว่าในพื้นที่ไม่เหมาะสม 430 บาทต่อตัน เนื่องจากในพื้นที่ไม่เหมาะสมได้ผลผลิตต่อไร่น้อยกว่าในพื้นที่เหมาะสม
ส่วนมะนาว และ ส้มโอ ปลูกในพื้นที่เหมาะสมอยู่แล้ว พบว่า มะนาว มีต้นทุนการผลิต 37,091 บาทต่อไร่ หรือ 6,730 บาทต่อตัน ส้มโอ มีต้นทุนการผลิต 21,465 บาทต่อไร่ หรือ 11,740 บาทต่อตัน และ เป็ดไข่ (ไล่ทุ่ง) มีต้นทุนการผลิต 539 บาทต่อตัว
จังหวัดอุทัยธานี ข้าวนาปี มีต้นทุนการผลิต ในพื้นที่เหมาะสม 4,043 บาทต่อไร่ หรือ 5,710 บาทต่อตัน ในพื้นที่ไม่เหมาะสม 3,570 บาทต่อไร่ หรือ 5,160 บาทต่อตัน โดยต้นทุนการผลิต ในพื้นที่เหมาะสมมากกว่าในพื้นที่ไม่เหมาะสม 473 บาทต่อไร่ หรือ 550 บาทต่อตัน เนื่องจากตัวเกษตรกรในบริเวณพื้นที่เหมาะสม มีการดูแลรักษามากกว่าในพื้นที่ไม่เหมาะสม ด้วยปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่นค่าปุ๋ย ค่ายา และค่าน้ำมัน
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 มีต้นทุนการผลิต ในพื้นที่เหมาะสม 4,625 บาทต่อไร่ หรือ 4,580 บาทต่อตัน ในพื้นที่ไม่เหมาะสม 4,701 บาทต่อไร่ หรือ 5,140 บาทต่อตัน โดยต้นทุนการผลิต ในพื้นที่เหมาะสมน้อยกว่าในพื้นที่ไม่เหมาะสม 76 บาทต่อไร่ หรือ 560 บาทต่อตัน เนื่องจากการเตรียมดิน การดูแลรักษาที่น้อยกว่าในพื้นที่ไม่เหมาะสม รวมถึงค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย และค่าน้ำมัน
มันสำปะหลังโรงงาน มีต้นทุนการผลิตในพื้นที่เหมาะสม 5,981 บาทต่อไร่ หรือ 2,070 บาทต่อตัน ในพื้นที่ไม่เหมาะสม 6,459 บาทต่อไร่ หรือ 2,170 บาทต่อตัน ซึ่งต้นทุนการผลิต ในพื้นที่เหมาะสมน้อยกว่าในพื้นที่ไม่เหมาะสม 478 บาทต่อไร่ หรือ 100 บาทต่อตัน เนื่องจากการเตรียมดิน การดูแลรักษาที่น้อยกว่าในพื้นที่ไม่เหมาะสม รวมถึงค่าพันธุ์ และค่าน้ำมัน
อ้อยโรงงาน มีต้นทุนการผลิต ในพื้นที่เหมาะสม 9,378 บาทต่อไร่ หรือ 770 บาทต่อตัน ในพื้นที่ไม่เหมาะสม 8,503 บาทต่อไร่ 1,160 บาทต่อตัน โดยต้นทุนการผลิต ในพื้นที่เหมาะสมมากกว่าในพื้นที่ไม่เหมาะสม 875 บาทต่อไร่ แต่เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตต่อผลผลิตในพื้นที่เหมาะสมแล้ว น้อยกว่าในพื้นที่ไม่เหมาะสม 390 บาทต่อตัน เนื่องจากในพื้นที่ไม่เหมาะสมสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่เกินปีที่ 3 จึงทำให้เกษตรกรต้องลงทุนในการปลูกรอบใหม่ ซึ่งทำให้ภาพรวมต้นทุนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมมากกว่าในพื้นที่เหมาะสม
ทั้งนี้ หากสนใจข้อมูลผลการศึกษา สามารถขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมและคำแนะนำได้ที่ สศท.12 โทร. 056 803 525 หรือ อีเมล [email protected]