นายหนิง เหอ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินโครงการโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หนองแขม กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้เปิดศูนย์เรียนรู้โรงกำจัดขยะเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจหาความรู้เกี่ยวกับขยะได้มาศึกษาค้นคว้าข้อมูล ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม โดยศูนย์ดังกล่าวจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับขยะทั้งหมดตั้งแต่แหล่งกำเนิดไปจนถึงวิธีการแปลงขยะไปสู่พลังงานและวิธีการกำจัดขยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับผลการติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้น หลังจากที่บริษัทได้รับสัมปทาน โครงการเตาเผาขยะมูลฝอยขนาด 300-500 ตัน/วันที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม จากกรุงเทพมหานคร มูลค่าโครงการ 960 ล้านบาทใช้เทคโนโลยีระบบเตาเผาและอุปกรณ์ แบบตะกรับ (Stocker Type) 2 ชุดๆละ 250 ตัน มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมไม่เกิน 9.8 เมกะวัตต์ ระยะเวลาสัมปทาน 20 ปี (BOT-Build Operate Transfer) โดยเปิดกิจการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา บริษัทได้มีมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง โดยผลศึกษาระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2559 พบว่าทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด อาทิ คุณภาพอากาศในปล่องระบายมวลสาร คุณภาพอากาศในบรรยากาศ ระดับเสียง คุณภาพน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำใต้ดิน ฯลฯ ซึ่งตอกย้ำภาพความเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทได้เป็นอย่างดี โดยการดำเนินโครงการเตาเผาขยะมูลฝอย หนองแขม นับเป็นต้นแบบของโรงกำจัดขยะแบบเตาเผาที่มีประสิทธิภาพซึ่งบริษัทพร้อมที่จะขยายการลงทุนตลอดจนการบริหารจัดการไปยังส่วนอื่นๆทั่วประเทศอย่างครบวงจร
"ปัจจุบัน C&G มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ฮ่องกง และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX-ST) เมื่อเดือนเมษายน 2548 บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโรงกำจัดมูลฝอยด้วยความร้อนสูงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเปิดดำเนินการมาแล้วกว่า 12 โครงการ มีกำลังการกำจัดขยะรวมกว่า 11,000 ตันต่อวัน โรงงานของบริษัทได้แก่ หวงสือ และฮุ่ยอัน ได้รับการรับรองให้เป็นโครงการที่มีกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) บริษัทลงทุนก่อสร้าง ดำเนินงานโรงเตาเผาฯภายใต้การลงทุนทั้งในรูปแบบ BOT ( (BOT-Build Operate Transfer) (ก่อสร้าง-ดำเนินงาน-โอนสิทธิ์) และ BOO (ก่อสร้าง-เป็นเจ้าของ-ดำเนินงาน) ซึ่งการลงทุนในเมืองไทยก็จะใช้วิธีการเดียวกับที่ประเทศจีน บริษัทฯมีประสบการณ์และความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี บุคลากร องค์ความรู้เกี่ยวกับโรงกำจัดขยะครอบคลุมทุกรูปแบบทำให้การดำเนินงานที่ผ่านมาประสบความสำเร็จทั้งในประเทศจีนและการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง"
นายหนิง เหอ กล่าวต่อไปว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทย นอกเหนือจากที่ทำโรงงานต้นแบบหนองแขมเสร็จสมบูรณ์แล้ว บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายการลงทุนไปยังที่อื่นๆ ที่ต้องการก่อสร้างหรือบริการจัดการโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจรในพื้นที่อื่นๆต่อไปทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค
ข้อมูลเกี่ยวกับโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม
1. ตั้งอยู่ที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม เนื้อที่โรงงาน 30 ไร่ มูลค่าโครงการ 960 ล้านบาท
2. ใช้เทคโนโลยีเตาเผาขยะของบริษัท Hitachi Zosen Von Roll Stoker เป็นเทคโนโลยีจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเภทเตาเผาแบบตะกรับ (Stoker Type) ใช้อุณหภูมิความร้อน 850-1,000 องศาเซลเซียสในการเผาไหม้
3. ความสามารถในการเผาขยะ 300-500 ตัน/วัน (มีเตาเผา 2 ชุด สามารถเผาขยะได้ชุดละ 250 ตัน/วัน)
4. ความร้อนจากขบวนการเผาไหม้จะถูกส่งไปยังหม้อต้มไอน้ำ (Boiler) เพื่อหมุนกังหันไอน้ำเป็นต้นกำลังของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Turbine)สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 5-9.8 เมกะวัตต์ ทุกขั้นตอนในการเผาไหม้แบบอัตโนมัตินี้ควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์จากห้องควบคุม
กระบวนการกำจัดขยะ
1. เมื่อรถเก็บมูลฝอยมาถึงโรงงาน จะผ่านการชั่งน้ำหนัก มูลฝอยจากรถจะถูกเทลงไปเก็บในบ่อแบบปิดเพื่อลดการส่งกลิ่นและความชื้น จากนั้นเครนจะตักมูลฝอยป้อนเข้าสู่เตาเผาด้วยอุณหภูมิ 1,000±50 องศาเซลเซียส โดยมีแผ่นตะกรับที่พลิกตัวได้ ทำให้มูลฝอยในเตามีการพลิกตัวตลอดเวลา เมื่อรวมกับก๊าซที่ถูกสูบจากบ่อมูลฝอย จะช่วยให้มูลฝอยถูกเผาไหม้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. พลังงานความร้อนที่อยู่ในตัวมูลฝอย เมื่อผ่านการเผาไหม้จะถูกไอเสียที่มีความร้อนสูงนำพาไป โดยมีระบบหมุนเวียนไอน้ำของหม้อไอน้ำดูดรับความร้อน กลายเป็นไอน้ำที่มีความร้อนสูงและความดันสูง และไอร้อนนี้เองที่ผลักดันเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า
3. กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งใช้ในโรงกำจัดขยะ ส่วนที่เหลือขายให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit