ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้คลี่คลายแล้ว 7 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ใน 5 จังหวัด พร้อมประสานจังหวัดภาคเหนือรับมืออากาศหนาวเย็น ภาคใต้ฝนตกหนัก – คลื่นลมแรง

29 Dec 2016
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 – 28 ธันวาคม 2559 เกิดสถานการณ์อุทกภัย 12 จังหวัด ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 7 จังหวัด และยังคงมีสถานการณ์ใน 5 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และนราธิวาส พร้อมบูรณาการหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง รวมถึงสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ สำหรับบริเวณตอนบนของประเทศมีอุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรง ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 29 ธันวาคม 2559 – 1 มกราคม 2560

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันใน 12 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ รวม 104 อำเภอ 689 ตำบล 5,048 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 263,710 ครัวเรือน 789,674 คน ผู้เสียชีวิต 35 ราย บาดเจ็บสาหัส 1 ราย ถนนเสียหาย 3,142 สาย คอสะพาน 157 แห่ง ท่อระบายน้ำ 90 แห่ง ฝาย 89 แห่ง อ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง ประตูระบายน้ำ 1 แห่ง แนวกันคลื่น 1 แห่ง โรงเรียน 855 แห่ง วัด 41 แห่ง มัสยิด 6 แห่ง ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ระนอง ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สงขลา และยะลา ยังคงมีสถานการณ์ใน 5 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และนราธิวาส รวม 13 อำเภอ 84 ตำบล 625 หมู่บ้าน โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพุนพิน และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี รวม 20 ตำบล 137 หมู่บ้าน นครศรีธรรมราช ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอชะอวด รวม 53 ตำบล 462 หมู่บ้าน ตรัง ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกันตัง และอำเภอเมืองตรัง รวม 6 ตำบล 13 หมู่บ้าน พัทลุง ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง และอำเภอเขาชัยสน รวม 2 ตำบล 8 หมู่บ้าน นราธิวาส ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 2 อำเภอ ได้แก่อำเภอสุไหงโก - ลก และอำเภอระแงะ รวม 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน 4 ชุมชน ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมดำเนินการสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัย และทรัพย์สินที่เสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ตลอดจนเร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม จากการติดตามคาดการณ์สภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนคาดว่าจะปกคลุมถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิจะลดลงอีก 3 – 5 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง โดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 3 – 8 องศาเซลเซียส จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวดูแลสุขภาพ เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง สำหรับการเตรียมพร้อมของ ปภ. ได้ประสานจังหวัดเตรียมรับมือสภาพอากาศหนาวเย็น จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากภัยในช่วงอากาศหนาว ทั้งไฟป่า หมอกควัน อัคคีภัย และอุบัติภัยจากภัยหนาว สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ประกอบกับในช่วงระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2559 – 1 มกราคม 2560 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างเคลื่อนที่ปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 - 3 เมตร ชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 29 ธันวาคม 2559 – 1 มกราคม 2560 ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป