นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 สูงกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง สำหรับในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ กระทรวงการคลังจะดำเนินการให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บจากฐานเงินเดือนและฐานดอกเบี้ยยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนว่าการจ้างงานในตลาดแรงงานและการออมของประชาชนยังคงมีการขยายตัว ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการบริโภคในประเทศต่อไป"
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเดือนพฤศจิกายน 2559 และในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2559)
ในเดือนพฤศจิกายน 2559 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 165,965 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,631 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.2 ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2559) รายได้รัฐบาลสุทธิมีจำนวน 369,966 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 19,734 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.6 และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.5
1. เดือนพฤศจิกายน 2559
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 165,965 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,631 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.2 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.4) โดยการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 5,109 ล้านบาท หรือร้อยละ 287.8 เนื่องจากมีการนำส่งรายได้เหลื่อมมาจากปีงบประมาณ 2559 บางส่วน การจัดเก็บภาษีน้ำมันสูงกว่าประมาณการ 1,132 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.7 เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันเบนซินและอัตราภาษีน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 และการจัดเก็บเบียร์สูงกว่าประมาณการ 878 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.2
2. ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2559)
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 369,966 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 19,734 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.5) โดยการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 11,428 และ 9,853 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.2 และ 38.5 ตามลำดับ สำหรับกรมสรรพากรจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 632 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.3 ในขณะที่กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการ 3,912 และ 3,008 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.7 และ 3.4 ตามลำดับ ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 237,688 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 632 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.3 โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 847 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.1) เนื่องจากภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยและปันผล (ภ.ง.ด. 2) และจากเงินเดือน (ภ.ง.ด. 1) จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ
ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 608 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.3) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีจากค่าบริการและจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) สูงกว่าที่ประมาณการไว้
อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 562 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.7) ซึ่งเป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าสูงกว่าเป้าหมาย 1,978 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.4) สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,539 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.6)
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 84,258 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,008 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.6) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ได้แก่
ภาษีสุราจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,806 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.5)
ภาษียาสูบจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,763 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.2)
ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,103 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.6)
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีน้ำมันสูงกว่าประมาณการ 1,449 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 27.2) เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันเบนซินและอัตราภาษีน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 และการจัดเก็บภาษีเบียร์สูงกว่าประมาณการ 602 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.9 เนื่องจากสถานประกอบการได้หยุดกิจการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 เพื่อถวายความอาลัย)
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 16,988 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,912 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.7) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 3,793 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.5 เนื่องจากผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรระยะที่ 2 และการขอใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวร้อยละ 6.5 สำหรับมูลค่านำเข้าในรูปเงินบาทเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.4
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 42,975 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 11,428 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 47.2) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง โรงงานยาสูบ กองทุนวายุภักษ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้ที่ค้างนำส่งจากปีก่อนหน้า
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 35,415 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 9,853 ล้านบาท หรือร้อยละ 38.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.4) มีการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน
สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 646 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 101 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 43.2) โดยรายได้จากที่ราชพัสดุ และรายได้จากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 39,900 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,122 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.4 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 35,000 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,300 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.2 และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 4,900 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 178 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.8
2.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 2,386 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 396 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.9
2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 2,700 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 41 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5
2.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 2,372 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 26 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3573