กพร. เปิดมิติใหม่การจัดทำรายงานในรูปแบบข้อมูลและภาพถ่ายจากโดรน เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลการทำเหมืองแร่

29 Dec 2016
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดมิติใหม่การตรวจงานเหมืองแร่นำร่องเปิดตัวอากาศยานไร้คนขับพร้อมตั้งเป้าเป็นเครื่องมือสนับสนุนการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบกิจการเหมืองแร่ในด้านต่างๆ ได้แก่ การกำกับดูแลการประกอบการเหมืองแร่ให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม การตรวจสอบป้องกันการทำเหมืองออกนอกเขตประทานบัตร การตรวจสอบกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมือง การกำกับดูแลและติดตามตรวจสอบการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม การประเมินความถูกต้องในการชำระค่าภาคหลวงแร่ โดยในระยะแรกกำหนดตรวจในพื้นที่เหมืองหินปูน เหมืองแร่ยิปซัม ประมาณ 50 แปลง หรือกว่า 10,000 ไร่ ตลอดจนตั้งเป้าปี 2560 กำหนดมาตรการให้เหมืองแร่ทั่วประเทศส่งรายงานในรูปแบบภาพถ่ายมุมสูงจากอากาศยานไร้คนขับ เพื่อสะดวกในการตรวจสอบการประกอบการเหมืองแร่ให้ตรงตามข้อกำหนดแนบท้ายประทานบัตร
กพร. เปิดมิติใหม่การจัดทำรายงานในรูปแบบข้อมูลและภาพถ่ายจากโดรน เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลการทำเหมืองแร่

ทั้งนี้ กพร. ได้จัดกิจกรรมลงพื้นที่สาธิตตัวอย่างการใช้อากาศยานไร้คนขับปฏิบัติงานตรวจสอบและกำกับดูแลเหมืองแร่ นำโดยคณะผู้บริหาร กพร. เจ้าหน้าที่วิศวกรเหมืองแร่ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อเร็วๆ นี้ ณ เหมืองหินปูน บริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด จังหวัดสระบุรี

นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า การใช้อากาศยานไร้คนขับในการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบการเหมืองแร่นับเป็นกระบวนการทำงานตามแนวทางนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล เนื่องจากเป็นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาสนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน โดยในระยะแรกได้ดำเนินการตรวจสอบการประกอบการเหมืองหินปูนในพื้นที่จังหวัดสระบุรี เหมืองแร่แคลไซต์ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี เหมืองแร่ยิปซัมในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและนครสวรรค์ เหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 50 แปลง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ซึ่งเชื่อมั่นว่าอากาศยานไร้คนขับจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการควบคุมผู้ประกอบการดำเนินกิจการการทำเหมืองแร่ให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ตามข้อกำหนดแนบท้ายประทานบัตร เพื่อความปลอดภัย ไม่กระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งก่อเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศสูงสุด

นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลที่ได้จากภาพถ่ายทางอากาศยานไร้คนขับนั้นจะมีความรวดเร็ว และ มีความแม่นยำใกล้เคียงกับใช้ทรัพยากรคน หรืออาจแตกต่างเล็กน้อยประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่งเป็นประโยชน์ในการนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำกับดูแลการประกอบการเหมืองแร่ในด้านต่าง ๆ ได้แก่

· การกำกับดูแลการประกอบการเหมืองแร่ให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมและมีความปลอดภัยในการทำงาน โดยเฉพาะการเปิดหน้าเหมืองและการผลิตแร่ จะต้องมีความปลอดภัย โดยความลาดชันของเหมืองจะต้องไม่เกินตามที่ได้ออกแบบไว้และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ซึ่งจะเป็นการป้องกันอันตรายขณะปฏิบัติงาน และป้องกันปัญหาการถล่มของหน้าเหมือง รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากอากาศยานไร้คนขับจะมีความชัดเจนและสามาระนำมาคำนวณความลาดชันรวมของหน้าเหมืองได้

· การตรวจสอบป้องกันการทำเหมืองออกนอกเขตประทานบัตร หรือทำเหมืองล้ำเข้าไปในเขตห้ามทำเหมือง (Buffer zone) ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสาธารณะหรือสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การใช้อากาศยานไร้คนขับทำให้เห็นเขตพื้นที่การประกอบกิจการได้อย่างชัดเจน

· การตรวจสอบกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองว่าเป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่ เช่น พื้นที่เก็บกองแร่ พื้นที่เก็บกองเปลือกดิน เศษหินที่เกิดจากการทำเหมือง บ่อดักตะกอน เป็นต้น

· การกำกับดูแลและติดตามตรวจสอบการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการฟื้นฟูพื้นที่เหมืองตามเงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตร ซึ่งระบุว่ากิจการเหมืองแร่ทุกประเภทจะต้องดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมือง ทั้งระหว่างและหลังการทำเหมืองจนกว่าพื้นที่จะกลับคืนสู่สภาพที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรืออยู่ในสภาพที่เป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคม การใช้อากาศยานไร้คนขับในการถ่ายภาพจะเห็นความชัดเจนถึงความคืบหน้าในการพื้นฟูพื้นที่

· การประเมินความถูกต้องในการชำระค่าภาคหลวงแร่ ข้อมูลที่ได้จากการทำงานของอากาศยานไร้คนขับ เป็นข้อมูลที่เป็นจริงและถูกต้องแม่นยำ จะช่วยตรวจสอบและประเมินความถูกต้องของการชำระค่าหลวงแร่ของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดีสำหรับการนำอากาศยานไร้คนขับมาใช้สนับสนุนการตรวจสอบและกำกับดูแลเหมืองแร่นอกจากเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานแล้ว ยังช่วยให้สามารถติดตามการประกอบกิจการเหมืองแร่ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการปฏิบัติงานในหลายด้าน เช่น ค่าใช้จ่ายและบุคลากรที่ปฏิบัติงาน ที่สำคัญคือ ระยะเวลาในการทำงานลดลงมาก อย่างน้อยประมาณ 5 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานโดยใช้กล้องสำรวจรังวัดพื้นที่หน้าเหมืองตามปกติในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในปี 2560 กพร. ได้ตั้งเป้ากำหนดมาตรการให้สถานประกอบการเหมืองแร่ทั่วประเทศกว่า 580 ราย จัดทำรายงานการประกอบกิจการเหมืองแร่ในรูปแบบข้อมูลและภาพถ่ายที่ได้จากการทำงานของอากาศยานไร้คนขับส่งให้กับ กพร. เป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและติดตามสถานการณ์การประกอบกิจการของแต่ละเหมืองให้เป็นไปตามข้อกำหนดแนบท้ายประทานบัตร รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์การประกอบการเหมืองแร่ ทั้งในแง่ของข้อมูลการผลิต การจำหน่าย การขนส่งแร่ และปริมาณสำรองแร่คงเหลือในแต่ประทานบัตร เพื่อประโยชน์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป นายสมบูรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

พร้อมกันนี้ กพร. ได้จัดกิจกรรมลงพื้นที่สาธิตตัวอย่างการใช้อากาศยานไร้คนขับปฏิบัติงานตรวจสอบและกำกับดูแลเหมืองแร่ นำโดยคณะผู้บริหาร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของ กพร. ณ เหมืองหินปูน บริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด จังหวัดสระบุรี เมื่อเร็ว ๆ นี้

สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักวิศวกรรมและฟื้นฟูพื้นที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 3740 หรือเข้าไปที่ www.dpim.go.th

HTML::image(