ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 4 จังหวัด พร้อมประสาน 37 จังหวัดภาคเหนือรับมืออากาศหนาวเย็น ภาคใต้ 8 จังหวัด มีฝนตกหนัก – คลื่นลมแรง

30 Dec 2016
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ยังคงมีสถานการณ์ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และนราธิวาส พร้อมบูรณาการหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง สำหรับบริเวณตอนบนของประเทศมีอุณหภูมิลดลงกับลมพัดแรง ในช่วงวันที่ 30 ธันวาคม 2559– 1 มกราคม 2560 ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพและระมัดระวังอันตรายจากภัยในช่วงฤดูหนาว ขณะที่ภาคใต้จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรง ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็ก ควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 30 ธันวาคม 2559 – 4 มกราคม 2560

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ว่า ยังคงมีสถานการณ์ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และนราธิวาส รวม 11 อำเภอ 78 ตำบล 612 หมู่บ้าน โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพุนพิน และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี รวม 20 ตำบล 137 หมู่บ้าน นครศรีธรรมราช ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอชะอวด รวม 53 ตำบล 462 หมู่บ้าน พัทลุง ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง และอำเภอเขาชัยสน รวม 2 ตำบล 8 หมู่บ้าน นราธิวาส ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสุไหงโก - ลก และอำเภอระแงะ รวม 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน 4 ชุมชน ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมดำเนินการสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัย และทรัพย์สินที่เสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ตลอดจนเร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม จากการติดตามคาดการณ์สภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และเข้าปกคลุมบริเวณเทือกเขาในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิจะลดลง 2 – 4 องศาเซลเซียส กับมีลมพัดแรง โดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 3 – 8 องศาเซลเซียส กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 37 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี พิษณุโลก ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุดรธานี เลย หนองบัวลำภู หนองคาย และบึงกาฬ เตรียมพร้อมรับมือสภาพอากาศหนาวเย็น โดยสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ เพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย ดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นพิเศษ ส่วนเกษตรกรควรจัดทำที่กำบังปกคลุมพืชผลการเกษตร เพื่อป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหาย สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง สำรวจความต้องการเครื่องกันหนาว พร้อมจัดหาและวางแผนแจกจ่ายเครื่องกันหนาวให้สอดคล้องกับสภาพอากาศและความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ประกอบกับในช่วงระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2559 – 1 มกราคม 2560 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างเคลื่อนที่ปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย บริเวณที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ และริมชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก โดยติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 - 4 เมตร ชาวประมงและผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเล ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและประกอบกิจกรรมทางทะเล เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 30 ธันวาคม 2559 – 4 มกราคม 2560 ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสาน 8 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยไว้ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th