“เดิน I ทาง I พ่อ” เรียนรู้และสานต่อที่พ่อทำในสไตล์คนเจนวาย

26 Dec 2016
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โครงการหลวงแม่ลาน้อย สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง โครงการฟื้นฟูพื้นที่และบรรเทาอุทกภัยบ้านคีรีวง และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีพระราชปณิธานที่จะสร้างประโยชน์สุขแก่พสกนิกรชาวไทย ซึ่งแม้ว่าในตอนนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะเสด็จสู่สวรรคาลัย แต่เชื่อคนไทยทุกคนจะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและสิ่งที่พระองค์สร้างไว้ตลอดไป
“เดิน I ทาง I พ่อ” เรียนรู้และสานต่อที่พ่อทำในสไตล์คนเจนวาย

เครือข่ายสานต่อที่พ่อทำเชื่อว่าวิธีที่จะแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ดีที่สุดคือการสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านให้ยั่งยืนสืบไป จึงเป็นที่มาของการจัดทริป "เดิน I ทาง I พ่อ" ขึ้น โดยคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นรุ่นใหม่เจนเนอเรชั่นวาย ออกเดินทางไปยังสถานที่ที่กล่าวมาทริปละ 20 คน เพื่อเรียนรู้และร่วมกันสานต่อสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำ พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้รับรู้ถึงความมุ่งมั่นที่พระองค์ทรงทำเพื่อพสกนิกรของพระองค์ ทริป "เดิน I ทาง I พ่อ" ทำให้การเดินทางในครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้ง เพราะผู้ร่วมโครงการได้ออกไปจากจุดแลนด์มาร์กที่เคยเห็นจนชินตา ไปในที่ที่ไม่มีอยู่ในไกด์บุ๊ก ที่ที่ซ่อนตัวอยู่กลางหุบเขา ไปทำกิจกรรมแบบที่ไม่เคยทำ ไปรู้เรื่องที่ไม่เคยถูกเล่า โดยเดินทางไปพร้อมกับผู้สร้างแรงบันดาลใจเจนเนอเรชั่นวาย 5 คน ที่ได้เปลี่ยนเรื่องเล่าเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวทั้ง 6 แห่งนี้ให้พิเศษกว่าที่เคยได้ยินหรือได้เห็นมา ทริปแรกเริ่มที่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จ.เชียงใหม่ ออกเดินทางระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม ไปพร้อมกับ อาย กมลเนตร เรืองศรี ที่รู้จักกันดีในฐานะนักแสดง แต่ในครั้งนี้เธอมาร่วมเดินทางในฐานะนักเขียน ผู้ค้นหาเรื่องราวใหม่ที่รอการถ่ายทอด ซึ่งอ่างขางในภาพจำของคนทั่วไปเต็มไปด้วยภาพความสวยงามของดอกไม้นานาพันธุ์ ทะเลหมอกสีเงิน ไร่ชาเขียวชะอุ่ม ป่าสนแสนร่มรื่น หรือเด็กดอยตัวน้อยที่ยิ้มสู้กล้อง แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าเบื้องหลังภาพเหล่านี้ยังมีเรื่องราวที่สวยงามกว่านั้นอีกมาก เพราะทุกคนได้มาชมธรรมชาติกับเส้นทางเดินป่ากลางหุบเขา ได้รับรู้เรื่องการมาทรงงาน การปลูกป่า และการปลูกพืชทดแทน พร้อมทั้งได้จิบชากลางไร่ชาและร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้ที่เคยทำงานถวายและอยู่กับโครงการหลวงมาตั้งแต่ต้น ได้รู้ถึงที่มาของสถานที่และความประทับใจที่มีต่อการงานทรงงาน และยังได้ชมพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่รวบรวมและจัดแสดงแนวพระราชดำริในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้รับรู้เรื่องการทรงงานผ่านห้องจัดแสดงต่างๆ ความตั้งใจของพระองค์ที่ลองผิดลองถูกเพื่อให้ผลงานออกมาสามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้จริง

ทริปที่ 2 ออกเดินทางไปที่ โครงการหลวงแม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 3-5 พฤศจิกายน พร้อมกับ มุนินฺมุนินทร์ สายประสาท นักวาดการ์ตูนผู้ส่งต่อแรงบันดาลใจด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ ผู้ร่วมโครงการนี้ได้ชมทั้งนาขั้นบันได เรียนรู้ถึงระบบการจัดการธนาคารข้าวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานทุนทรัพย์ให้จัดตั้ง และทรงรับสั่งว่าเป็นธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก รวมทั้งได้ทดลองปลูกผักในแปลงเกษตรด้วยตัวเอง รับรู้ถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหลังการเปลี่ยนจากการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยมาเป็นการทำเกษตรแบบยั่งยืน และชมการทอผ้าและปั่นด้ายด้วยขนแกะโดยได้ร่วมลงมือทำตั้งแต่เริ่มต้นเก็บวัตถุดิบ และได้เดินป่าเก็บเมล็ดกาแฟสดและวัตถุดิบอื่นๆ มาทำสีย้อมผ้า พร้อมทดลองย้อมผ้าจากวัตถุดิบที่เก็บมาได้

ทริปที่ 3 เกิดขึ้นที่ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายน ออกเดินทางไปพร้อมกับ เปอร์ สุวิกรม อัมระนันทน์ พิธีกรรายการโทรทัศน์ที่ครั้งนี้ได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักเดินทางเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจและถ่ายทอดเรื่องราวของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ในมุมมองที่ต่างไป เพราะเป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้ไม่ใช่ป้ายจุดสูงสุดแดนสยามที่ใครๆ ต่างพากันมาพิชิตเพื่อถ่ายรูป แต่การมาครั้งนี้ เพื่อประสบการณ์ใหม่ในแบบที่ใครก็ไม่เคยพิชิตมาก่อน ทั้งการรับรู้ถึงที่มาและความสำคัญของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เรียนรู้ระบบการจัดการภายในสถานี ระบบการจัดการน้ำและการทำประมงบนที่สูง ที่ทำให้สามารถเพาะพันธุ์ปลาและมีไข่คาเวียร์ที่อยู่บนพื้นที่สูงที่สุดในประเทศไทย ชมต้นกาแฟต้นแรกของอินทนนท์ที่บ้านหนองหล่ม ศึกษาว่าทำไมพื้นที่แห่งนี้ถึงสามารถปลูกกาแฟได้ ตลอดจนศึกษาการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่าพระองค์ทรงมองเห็นอะไรถึงได้เลือกพื้นที่นี้สำหรับการปลูกกาแฟ พร้อมชมแปลงปลูกกุหลาบที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน และชมสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงสร้างไว้ที่ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น

ทริปที่ 4 เดินทางไปที่ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังและโครงการฟื้นฟูพื้นที่และบรรเทาอุทกภัยบ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน โดยมี เล็ก อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร ศิลปินที่รู้จักกันในชื่อ เล็ก กริซซี่ คาเฟ่ (Greasy Cafe) ผู้สร้างแรงบันดาลใจและส่งต่อความรู้สึกผ่านเสียงดนตรีด้วยเนื้อร้องและเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อเยี่ยมชมอาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง รับรู้ข้อมูลของชาวปากพนัง วิถีชีวิต อุทกภัยที่เคยเกิดขึ้นที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน และการเข้ามาแก้ไขปัญหาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เยี่ยมชมประตูระบายน้ำอุทกวิพาทประสิทธิ จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำขาดแคลน ปัญหาน้ำเค็ม และปัญหาน้ำเปรี้ยวแพร่กระจาย รวมทั้งเยี่ยมชมหมู่บ้านคีรีวงที่ใช้แนวคิดในการจัดการทรัพยากรและการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง อยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตัวเอง และร่วมทำบุญใหญ่กับชุมชนคีรีวงในงานรำลึกอุทกภัยปี 2531 เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิตและเป็นการเตือนใจไม่ให้ชาวคีรีวงกระทำในสิ่งที่เป็นสาเหตุของภัยพิบัติ

ปิดท้ายกับการเดินทางพ่อด้วยทริปสุดท้ายทริปที่ 5 กับ สิงโต นำโชค ทะนัดรัมย์ ศิลปินชื่อดังมากความสามารถ ผู้ส่งต่อเรื่องเล่าและแรงบันดาลใจผ่านการเล่นดนตรีและบทเพลง ซึ่งได้ออกเดินทางระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน เพื่อไปที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี ที่ก่อตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีพระราชประสงค์จะพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของจันทบุรี การเดินทางครั้งนี้ทำให้ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวประมงเข้าใจถึงแนวคิดความยั่งยืนทางด้านอาหารด้วยการสร้างบ้านปลา ธนาคารปู ที่อยู่ของหอย และเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมโครงการได้ช่วยกันทำบ้านปลาอย่างปะการังเทียม และเรียนรู้การจัดการด้วยระบบธนาคารไข่ของแม่ปู

อาย กมลเนตร นักแสดงหญิงหนึ่งเดียวที่ร่วมทริป "เดิน I ทาง I พ่อ" บอกเล่าถึงความรู้สึกที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของทริปนี้ว่า "ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอนให้เราเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ถ้าจะไปช่วยใครแล้วไม่รู้จักวิธีการ ความคิด หรือความเชื่อของคนๆ นั้น ก็ยากที่จะเปลี่ยนเขา ในหลวงจึงเข้าไปเรียนรู้ ศึกษา ค้นคว้าด้วยพระองค์เอง ใส่พระทัยในทุกเรื่อง พื้นที่อ่างขางกว้างขวางกว่าหมื่นไร่ แต่พระองค์สามารถพลิกฟื้นจากภูเขาหัวโล้นให้กลายเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ อ่างขางไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวสำหรับอายอีกต่อไป แต่ที่นี่มีความหมายกว่านั้น ที่นี่ทำให้อายอยากทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม เมื่อก่อนเราทำงานเพื่อตัวเองเพื่อครอบครัวยังรู้สึกว่าเหนื่อยและท้อ แต่มันเล็กน้อยมากเมื่อได้มาเห็นสิ่งที่ในหลวงทำให้ประชาชน อายประทับใจคำสอนในเรื่องความพอเพียง ในหลวงทรงทำเป็นตัวอย่างให้เราเห็นในเรื่องการใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่า เราอาจทำได้ไม่เท่าท่าน แต่ต่อจากนี้ไปจะคิดมากขึ้น ส่วนในเรื่องของการทำหน้าที่ของตนเอง อายจริงใจและศรัทธาในอาชีพของตัวเอง ก็จะตั้งใจทำงานให้ออกมาดีที่สุด"

ทางด้านนักวาดการ์ตูนที่มีสไตล์เป็นของตัวเองอย่าง มุนิน มุนินทร์ ได้บอกเล่าถึงความประทับใจในการเดินทางครั้งนี้ว่า "ก่อนหน้านี้เคยคิดว่าเราอยากเจอคนที่เคยพบพระองค์ท่าน คนที่ทำงานถวายท่าน อยากรู้ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร การเดินทางมาครั้งนี้ก็ทำให้ได้เจอและได้ฟังเรื่องราวที่ไม่ใช่แค่การอ่านจากหนังสือหรือพบเห็นจากสื่ออื่นๆ ทำให้ประทับใจมาก วันพ่อทุกปีเราจะเขียนการ์ตูนเกี่ยวกับในหลวง สิ่งที่จะพูดตลอดคือพระองค์ท่านเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำดี นับถือพระองค์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ทริปนี้ทำให้ภาพชัดเจนขึ้นในใจเรา พอได้เดินตามรอยพระบาทที่ท่านเคยมายังที่โครงการหลวงแม่ลาน้อยแห่งนี้ ทำให้เห็นเลยว่าท่านต้องใช้เวลานานและทุ่มเทมากถึงจะได้ผลลัพธ์ออกมาแบบนี้ ทำให้เรามั่นใจว่าเราจะดำเนินชีวิตของเราต่อไปอย่างไร และรู้สึกว่าอยากจะทำให้ดีที่สุด"

สำหรับพิธีกรนักเดินทางอย่าง เปอร์ สุวิกรม กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า "ผมไม่เคยมาโครงการหลวงมาก่อน พอมีโอกาสก็อยากมาศึกษาว่าจากเมื่อก่อนจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรและอยากศึกษาลึกซึ้งไปถึงคนในโครงการหลวงและชาวบ้านว่าทำไมถึงรักพระองค์ เคยสงสัยว่าหม่อมเจ้าภีศเดชพาพระองค์มาดูอะไรกับกาแฟ 2-3 ต้นที่ดอยอินทนนท์ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ากาแฟ 2-3 ต้นแรกนั้นปัจจุบันได้กลายเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและชาวเขาอย่างมาก คุณตาพะโย่ ตาโร ชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอจะปลูกกาแฟต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่พระองค์ท่านได้ฝากเอาไว้และทำให้ชาวเขามีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมประทับใจมาก ผมตั้งคำถามมาตลอดว่าบุคคลอย่างพระพุทธเจ้า หรือ อคีลิสที่ได้ดูในภาพยนตร์ เขามีชีวิตอย่างไร เพราะแต่ละบุคคลนั้นเราไม่มีโอกาสได้เจอ ไม่มีโอกาสได้รู้ว่าตัวตนชีวิตจริงของเขาเป็นอย่างไร แต่มีบุคคลท่านหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกเช่นกัน ที่เราสามารถเล่าให้คนรุ่นหลังฟังได้ว่าท่านมีชีวิตจริงและเรื่องราวของท่านเป็นแบบนี้จริงๆ นั่นคือในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรานั่นเอง พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบของการทำความดี สิ่งที่พระองค์ทำไว้ให้กับประชาชน จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผมและคนไทยทำประโยชน์เพื่อสังคม เพื่อที่เราจะจะได้ภาคภูมิใจว่าเราได้มอบสิ่งดีๆ และงดงามให้กับประเทศชาติ"

สิ่งที่ได้รับจากการมาร่วมทริปที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง และโครงการฟื้นฟูพื้นที่และบรรเทาอุทกภัยบ้านคีรีวงสำหรับ เล็ก อภิชัย นั้น เขาได้กล่าวสั้นๆ แต่มีความหมายว่า "การมาร่วมทริปในครั้งนี้ทำให้เราตระหนักได้อีกอย่างหนึ่งว่าการเดินทางพ่อไม่จำเป็นจะต้องเดินตามเส้นทางที่ในหลวงทรงเคยทำ แต่เราสามารถเดินทางในวิธีคิดของพระองค์ท่านได้ด้วย หลายเรื่องที่ในหลวงตรัสเอาไว้เป็นเรื่องสัจธรรม เป็นเรื่องดีที่ควรนำไปทำต่อ ส่วนใครจะทำต่อในรูปแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าตีโจทย์อย่างไร คนทุกคนสำคัญและมีความหมายหมดและทำดีได้ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะอยู่ในหน้าที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นคนกวาดถนน หรือผู้บริหารระดับสูง ไม่ใช่ว่าเราอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ที่สูงมากแล้วเราจะต้องเหนือคนอื่น ใครทำอะไรอยู่ก็ทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด"

ส่วนนักดนตรีขวัญใจคนรุ่นใหม่อย่าง สิงโต นำโชค ผู้ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการทำความดีจากการที่ได้มาเห็นสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำ ได้ถ่ายทอดความรู้สึกว่า "ก่อนที่จะมาทริปนี้ ผมรู้จักพระราชกรณียกิจของในหลวงจากสื่อ จากเฟสบุ๊ก และผ่านคำบอกเล่าของคนอื่น แต่รู้แบบผิวเผิน การมาที่นี่ทำให้ผมรู้เพิ่มและเข้าใจในสิ่งที่ในหลวงทรงทำ พระองค์ทำอะไรให้เราอย่างหมดหัวใจ เพื่อให้ทุกชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดี เห็นแล้วก็คิดตามว่าถ้าเราต้องมาทำอะไรแบบนี้จะไหวมั้ย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำอะไรที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ ผมได้เห็นภาพของคุ้งกระเบน ก่อนที่พระองค์จะมาพัฒนา กว่าจะเป็นแบบทุกวันนี้ได้ต้องใช้เวลากว่า 30 ปี ต้องใช้ความอดทน และที่สำคัญต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างดี ถ้าเปรียบเทียบกับชีวิตเราที่จะทำอะไรให้สำเร็จสักอย่างหนึ่งก็ว่ายากแล้ว เราอยากจะทำธุรกิจสักอย่างให้สำเร็จ ยังรู้สึกว่ามันมีอุปสรรคปัญหามากมาย แต่ท่านทำสำเร็จมากว่า 4,000 โครงการ ท่านเป็นแบบอย่างว่าถ้าเราอยากประสบความสำเร็จ เราต้องตั้งใจและอดทน ทุ่มเทให้กับสิ่งนั้นๆ"

"เดิน I ทาง I พ่อ" ในความคิดแรกของผู้ร่วมทริป อาจจะเป็นทริปท่องเที่ยวที่น่าสนุกและเอ็กซ์คลูซีพ เพราะจะได้มาเห็นสิ่งที่สวยงามแบบที่ถ้ามาเองก็คงไม่มีโอกาสได้มาสัมผัส แต่เมื่อได้มาแล้ว ทุกคนบอกว่าสิ่งที่ได้รับนั้นมากกว่าคำว่า สนุกหรือพิเศษ แต่คือ แรงบันดาลใจในการทำความดี ที่เกิดจากการได้เห็นสิ่งที่ในหลวงรัชกาล 9 ได้ทรงทำเพื่อคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งแรงบันดาลใจที่จะทำความดีที่ออกมาจากความรู้สึกของผู้ร่วมทริปเจนเนอเรชั่นวายนั้นน่าจะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะก่อให้เกิดการสานต่อความดี และสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชให้คงอยู่ตลอดไป และยังนับเป็นสิ่งชี้วัดถึงความสำเร็จของการจัดทริปในครั้งนี้อีกด้วย

HTML::image( HTML::image( HTML::image(