นายรูดรา ซิงห์ ตามัง ผู้ว่าราชการกรุงกาฐมาณฑุ กล่าวภายหลังการลงนามข้อตกลงว่า "แนวคิดการพัฒนาความสัมพันธ์ในลักษณะเมืองพี่เมืองน้องนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งของการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างประชาชนของเมืองกาฐมาณฑุและเฉิงตู โดยทั้งสองเมืองนี้จะส่งเสริมซึ่งกันและกันในด้านต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยว การพัฒนาศักยภาพ โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงสารสนเทศและการสื่อสารที่สอดคล้องตามความต้องการ"
นายตามังแสดงความหวังว่า ความสัมพันธ์ครั้งใหม่นี้จะช่วยปูทางไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและโครงการพัฒนาต่าง ๆ
ทั้งนี้ กาฐมาณฑุและเฉิงตูต่างเห็นพ้องที่จะเดินหน้าร่วมกันในแง่มุมต่าง ๆ บนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมุ่งเน้นด้านการค้า วัฒนธรรม การท่องเที่ยว การศึกษา เกษตรกรรม การดูแลสุขภาพ การวางผังเมือง และการจัดการวิกฤติการณ์
ทั้งสองเมืองยังได้ตกลงที่จะส่งเสริมการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมถึงสนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารระหว่างกันด้วย
นายถัง เหลียงจือ เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองเฉิงตู กล่าวว่า "เฉิงตูเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่มีความเพียบพร้อมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่รุดหน้า ในขณะที่กาฐมาณฑุเป็นศูนย์รวมด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เราจึงหวังว่าจะมีโครงการสำคัญ ๆ รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจตามมาในอนาคตอันใกล้นี้"
นายเหลียงจือยังได้ปรารภถึงความสนใจที่ตรงกันในหลาย ๆ ด้านของทั้งสองเมืองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดแหล่งน้ำ พลังงาน การเงิน และการบริหารจัดการเมือง
กาฐมาณฑุและเฉิงตูจะสนับสนุนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า รวมทั้งจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเติบโตด้านเศรษฐกิจของกันและกันด้วย
อนึ่ง สถิติจากศุลกากรระบุว่า นับตั้งแต่เดือนม.ค.-ต.ค. 2559 มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกโดยรวมระหว่างเฉิงตูและเนปาลแตะ 5.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่การส่งออกมีมูลค่า 4.86 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้ามีมูลค่า 930,000 ดอลลาร์
ดร. ราเจช คาซี เชรษฐา ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมเนปาล-จีน เผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า "เฉิงตูเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจมากมาย เนเปาลเองยังคงขาดดุลการค้าอยู่ค่อนข้างมากเนื่องจากพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก เราจึงต้องหันมาให้ความสนใจกับการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่ไม่เพียงแต่จะเอื้อประโยชน์ต่อกาฐมาณฑุฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่เป็นผลประโยชน์ที่ได้ร่วมกันทั้งสองฝ่าย"
สำหรับสินค้าที่เมืองเฉิงตูส่งออกไปยังเนปาลนั้น ได้แก่ สิ่งทอ เสื้อผ้า ผ้าไหม ลวดหุ้มฉนวน สายเคเบิล และยาแผนปัจจุบัน ขณะที่สินค้านำเข้าประกอบด้วยหนังสัตว์ เครื่องหนัง โลหะพื้นฐานชนิดต่าง ๆ งานขึ้นรูปโลหะ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องแต่งกาย
นอกจากนี้ ทั้งสองเมืองจะร่วมมือกันสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยขณะนี้มีเที่ยวบินตรงของสายการบินแอร์ไชน่า และเสฉวนแอร์ไลน์ ให้บริการระหว่างเฉิงตูและกาฐมาณฑุ จำนวน 12 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
นิราจัน ทิวารี ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวของเนปาล เจ้าของบริษัท Nimi Travels and Tours เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า "มีนักท่องเที่ยวจากมณฑลเสฉวน โดยเฉพาะเมืองเฉิงตู เดินทางมาเนปาลเป็นจำนวนมาก เราจึงหวังว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้จะยิ่งดึงดูดให้ชาวจีนเข้ามาเที่ยวเนปาลมากขึ้น"
เนปาลสามารถเรียนรู้เทคนิคการบริหารจัดการเมืองจากเฉิงตู ในขณะที่เฉิงตูก็สามารถเรียนรู้วิธีการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากเนปาลได้ เพราะประเทศของเรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากเดินทางมาเยือนทุกปี
"นี่ยังเป็นโอกาสที่เอื้อให้เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของกันและกันอีกด้วย" เขากล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: Gochengdu
AsiaNet 66989
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit