นางสาวสุชญา อัมราลิขิต ผู้อำนวยการสำนักบริหารยุทธศาสตร์ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กล่าวว่า แหล่งท่องเที่ยววิสาหกิจชุมชนวนเกษตรดงเย็น ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ อพท.เข้าไปสร้างภาคีเครือข่าย ส่งเสริม สนับสนุนให้ชาวบ้านหันมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันมีพัฒนาการในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างดียิ่ง อาทิ มีการส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนวนเกษตรดงเย็น รวบรวมและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวอินทรีย์และปลูกผักปลอดสารเคมี จัดกิจกรรมพานักท่องเที่ยวเก็บผักมาทำอาหาร และให้นักท่องเที่ยวสนุกสนานไปกับวงดนตรีพื้นบ้าน มีการจัดกิจกรรมหว่านข้าวดำนา เกี่ยวข้าวรำแคน ตำข้าวเม่า และสามารถผลักดันเป็นชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและสร้างการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง แต่ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวนเกษตรดงเย็นยังขาดการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างเป็นระบบ ซึ่งการลงนามข้อตกลงสนับสนุนงบประมาณ โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรพอเพียง/เกษตรทฤษฎีใหม่บ้านดงเย็น ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จำนวน 1,100,000 บาท ระหว่าง อพท.กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในครั้งนี้ อพท.มีวัตถุประสงค์ให้ ศูนย์การศึกษาอู่ทองทวารวดี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ดำเนินการพัฒนายกระดับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวนเกษตรดงเย็นให้รู้จักการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาท่องเที่ยวเชิงเกษตรพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านดงเย็น ระยะ 5 ปี รวมทั้งสร้างการรับรู้และพัฒนาชุมชนแหล่งนี้ให้เป็นต้นแบบการปลูกผักปลอดสารพิษแบบครบวงจร ค้นหาแนวคิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบการบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ท้องถิ่น และส่งเสริมให้ชุมชนสามารถแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรพื้นฐานให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สร้างงานและสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกผักปลอดสารพิษ สร้างคู่มือภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้เป็นที่รู้จัก มีการจัดการศึกษาดูงานเพื่อขยายเครือข่ายการท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักในแวดวงเกษตรอินทรีย์ และอีกโครงการคือ โครงการติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการเมืองโบราณอู่ทอง ภายใต้โครงการนี้ ต้องการให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ช่วยดำเนินการสำรวจ สอบถามความพึงพอใจจากหน่วยงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนทบทวนผลการการดำเนินงานตามแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งในครั้งนี้ทาง อพท.ได้สนับสนุนให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ติดตามประเมินเพื่อเป็น "กระจกเงา" สะท้อนผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงานในภาพรวมของแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง
ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ในฐานะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้มีการเปิดการเรียนการสอน จำนวน 4 คณะ 1 วิทยาลัยและ 1 ศูนย์การศึกษาอู่ทองทวารวดี ซึ่งศูนย์การศึกษาอู่ทองทวารวดีเป็นศูนย์ปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น โดยสถาบันฯ มีปรัชญาในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิต มุ่งสร้างคุณภาพการศึกษา พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม พัฒนาชุมชนในท้องถิ่นให้มีความเข็มแข็ง ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ของ อพท.แล้ว ทางมหาวิทยาลัยฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะเข้าร่วมเป็น เครือข่ายในการสร้างองค์ความรู้แก่วิสาหกิจชุมชนวนเกษตรดงเย็นให้เข้าใจถึงการดำเนินการเกี่ยวกับนวัตกรรมการจัดการเกษตรและซัพพลายเชน รวมทั้งมีความยินดีที่จะติดตามประเมินผลการบริหารจัดการพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองทั้งระบบ
กว่า 4 ปีมาแล้วที่คณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทอง การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความจำเป็นต้องติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการ ด้วยการสำรวจข้อมูล สอบถามข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมาย เช่น หน่วยงานภาครัฐ เทศบาล ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประชาชน ชมรมต่างๆ เพื่อกำกับติดตามให้การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นไปตาม แผนแม่บทและแผนปฏิบัติการพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ที่ตอบโจทย์ให้กับท้องถิ่น ชุมชนและสังคมต่อไปในอนาคต ซึ่งการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงสนับสนุนงบประมาณ โครงการติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการเมืองโบราณอู่ทอง จำนวน 500,000 บาท ทาง ศูนย์การศึกษาอู่ทองทวารวดี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จะดำเนินการรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานที่เคยดำเนินการร่วมกับ สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.7) ในอดีต นำมาจัดทำรายละเอียดตามข้อมูลยุทธศาสตร์การพัฒนา จัดทำข้อเสนอแนะ ดำเนินการจัดทำการสำรวจความพึงพอใจและการตอบสนองต่อความต้องการการบริหารจัดการเมืองโบราณอู่ทอง มีการพัฒนาเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ข้อมูลผลการดำเนินงานที่เก็บข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลสำรวจความพึงพอใจและการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการซึ่งเก็บข้อมูลจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดำเนินการประมวลผลข้อมูลผลสัมฤทธิ์ที่ได้รับจากการสำรวจและจัดเก็บข้อมูล ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลการบริหารจัดการเมืองโบราณอู่ทองในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสะท้อนจุดอ่อน จุดแข็ง ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินงานของ อพท.7 เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองที่ดียิ่งขึ้นตามแผนระยะ 10 ปี
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit