โดยเกณฑ์การตัดสิน แบ่งออกเป็น 3 ส่วนประกอบด้วย 1.คะแนนจากคณะกรรมการพิจารณาจาก VTR และเอกสารประกอบการนำเสนอทั้ง 14 ภารกิจ 40 เปอร์เซ็นต์ 2. คะแนนจากการลงพื้นจริงของคณะกรรมการ 50 เปอร์เซ็นต์ 3.คะแนนโหวต SMS จากคุณผู้ชมทางบ้าน 10 เปอร์เซ็นต์ รวม 100 คะแนน โดยทีมที่สามารถเก็บคะแนนในการแข่งขันทุกส่วนได้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้ ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดในการแข่งขัน โดยทีมที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากพระองค์เองในงานวันข้าวและชาวนา (ในวันที่ 5 มิถุนายน 2560)
ซึ่งผลปรากฎว่า กลุ่มผู้ผลิตข้าวคุณภาพครบวงจร สหกรณ์การเกษตรพร้าว จำกัด จ.เชียงใหม่ เป็นผู้คว้าแชมป์ รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พร้อมรางวัลเงินสดและอุปกรณ์ส่งเสริมการเกษตร และรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตข้าวคุณภาพครบวงจร วิสาหกิจชุมชนแปลงนาสะอาด จ.กำแพงเพชร , รางวัลรองชนะเลิศอันดับสองได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตข้าวคุณภาพครบวงจร เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ตำบลผักไหม จ.ศรีสะเกษ , รางวัลชมเชยได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตข้าวคุณภาพครบวงจร วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวไทธาตุทอง จ.ชัยภูมิ, กลุ่มผู้ผลิตข้าวคุณภาพครบวงจร วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลบ้านฝาง จ.หนองคาย, กลุ่มผู้ผลิตข้าวคุณภาพครบวงจรวิสาหกิจชุมชนศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านนาเยีย จ.อุบลราชธานี, กลุ่มผู้ผลิตข้าวคุณภาพครบวงจร วิสาหกิจชุมชนกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนตำบลคอรุม จ.อุตรดิตถ์ และ กลุ่มผู้ผลิตข้าวคุณภาพครบวงจร วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ต้นแบบบ้านยางน้อย จ.ยโสธร รวมมูลค่ารางวัลทั้งสิ้นกว่า 1 ล้านบาท
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เผยว่า "ความพิเศษในการแข่งขันปีนี้ คือ การก้าวเข้าสู่การพัฒนาการทำนาที่เป็นในรูปแบบอุตสาหกรรมข้าวที่ครบวงจรมากยิ่งขึ้น เนื่องจากตัวแทนเกษตรกรทั้ง 8 จังหวัด ล้วนถูกคัดสรรโดยกรมการข้าว ซึ่งมีกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว เป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนการแข่งขันในครั้งนี้ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรทั้ง 8 ทีมเป็นส่วนหนึ่งโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวตลาดเฉพาะ (Niche Market) ภายใต้โครงการการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจหน้าที่ในการส่งเสริมการผลิต การค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อตลาดเฉพาะ ซึ่งมีความสอดคล้องกับโครงการที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับการผลิตข้าว และชาวนาให้เป็นชาวนาในระบบอุตสาหกรรมการข้าวครบวงจรอย่างแท้จริง ที่เก่งทั้งด้านการผลิต และด้านการตลาด ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเกษตรกรจะนำองค์ความรู้ที่ได้ในครั้งนี้ไปใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืนต่อไปในอนาคต"